สภา25 ก.ค.-“จุรินทร์” แจงมาตรการประกันรายได้ในสภา เร่งเจรจาอาร์เซ็ปให้เสร็จสิ้นปีนี้ ฟื้นเจราจาเอฟทีเอไทย-อียู พร้อมนัดถก “กรอ.พาณิชย์” นัดแรก 14 ส.ค.นี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับนโยบายประกันรายได้เกษตรกร การสร้างความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศและมาตรการเร่งรัดการส่งออก ที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลว่า นโยบายประกันรายได้ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าวไม่ใช่นโยบายประกันราคาพืชผลทางการเกษตร เพราะเป็นการขัดกับองค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ โดยนโยบายประกันรายได้เกษตรกรมีหลักการสำคัญคือ ให้เกษตรกรมีรายได้ชดเชยจากราคาพืชผลทางการที่ตกต่ำ ไม่สามารถขายพืชผลทางการเกษตรได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยจะได้รับเงินจากส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาประกันโดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ เช่น ราคาข้าวตันละ 10,000 บาทแต่ราคาตลาด 8 ,000 บาทต่อตัน ซึ่งมีส่วนต่าง 2,000 บาท รัฐบาลก็จะจ่ายเงินค่าส่วนต่างนี้ให้กับเกษตรกรโดยส่งเงินเข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ ธกส.โดยตรง โดยพืชผลทางเกษตรที่รัฐบาลจะประกันมี 5 ตัว คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม ข้าวโพด ส่วนพืชผลการเกษตรอื่นๆรัฐบาลก็จะดูแลเช่นกันโดยมาตรการอื่น ทั้งนี้จะประกันในรายได้เท่าไรในพืชแต่ละตัวจะมีการพูดคุยกันในคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับพืชเกษตรตัวนั้นก่อน
ทั้งนี้ส่วนข้อกังวลว่างบประมาณที่ใช้จะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินนั้น ไม่ต้องกังวลเพราะรัฐบาลจะใช้มาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น มาตรการชดเชยรายได้ การเพิ่มการใช้ในประเทศ เช่น นำยางพาราไปทำถนน ส่วนปาล์มก็นำไปทำน้ำมันดีเซลบี 20 บี 100 หรือนำไปผลิตไฟฟ้า รวมทั้งการเร่งรัดการส่งออก นอกจากนี้จะทำในเรื่องของเกษตรพันธะสัญญา หรือคอนเทรคฟาร์มมิ่ง โดยจะให้เกษตรกรจับคู่กับผู้ซื้อ
ขณะที่ ส่วนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นั้นกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายชัดเจนที่จะขยายความร่วมมือทางการค้ากับกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเจรจาการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ระหว่างอาเซียน และคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งอาร์เซ็ปเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้าโลก และในวันที่ 31 ก.ค.-3 ส.ค. ตนเองจะเป็นประธานประชุมอาร์เซ็ปที่ปักกิ่ง ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้การเจรจาอาร์เซ็ปจบภายในสิ้นปีนี้ เพราะจะเป็นโอกาสของไทยในการเปิดตลาดการค้ามากขึ้น รวมทั้งจะมีฟื้นการเจราความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป หรืออียู ที่สะดุดมานานเนื่องจากสถานการณ์การเมืองด้วย
นอกจากนี้ มาตรการการผลักดันการส่งออกนั้นนอกจากจะรักษาตลาดเดิมแล้วก็จะเร่งเปิดตลาดใหม่ พร้อมกับฟื้นตลาดเดิมที่เคยหายไป เช่น การฟื้นตลาดข้าวอิรัก ซึ่งตนเองได้มีการพูดคุยกับสมาคมส่งออกข้าวไทยแล้ว นอกจากนี้ยังได้ตั้ง “กรอ.พาณิชย์” ซึ่งเป็นเวทีหารือร่วมภาครัฐ และเอกชน ในการร่วมมือในการผลักดันการส่งออก โดยจะมีการนัดประชุมครั้งแรกใน 14 ส.ค.นี้ พร้อมกันนี้จะเน้นให้มีการค้าชายแดนมากขึ้น เพราะถือเป็นตลาดที่มีอนาคตและมีมูลค้าการค้าสูง และตนเองจะเรียกประชุมทูตพาณิชย์ในเดือนก.ย.เนื่องจากทูตพาณิชย์ถือเป็นกลไกสำคัญในเรื่องของการส่งออก โดยได้สั่งการให้ทูตย์พาณิชย์กำหนดเป้าตัวเลขการส่งออกของแต่ละประเทศ รวมทั้งลู่ทางการส่งออกของไทยด้วย ซึ่งทั้งหมดมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้.-สำนักข่าวไทย