กรุงเทพฯ 25 ก.ค.-ในเวทีเสวนา ‘ภาษาไทยในกระแส 4.0’ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ยอมรับโซเชียลมีเดียมีผลทำให้การอ่าน เขียนภาษาไทยผิดเพี้ยน แม้ภาษาไทยจะปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย แต่หากใช้ถูกต้อง ถือเป็นการช่วยส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “ภาษาไทยในกระแส 4.0” โดยมอบรางวัลให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ชนะการประกวดเล่าเรื่องเกี่ยวกับอาหารถิ่น เรื่อง “ของกินบ้านฉัน” ซึ่งได้มีการคัดเลือกนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-ป.6) จากทั่วประเทศ จนได้นักเรียนที่สามารถเล่าเรื่องด้วยการใช้ภาษาถิ่นและภาษาไทยได้ถูกต้อง เป็นธรรมชาติ จำนวน 40 คน
พร้อมกันนี้ยังเปิดเวทีเสวนา “ภาษาไทยในกระแส 4.0” โดยหยิบยกปัญหาการใช้ภาษาไทยมาถกเถียงเพื่อหาทางออกในการใช้ภาษาไทยให้เหมาะสมและเข้ากับยุคดิจิทัล
ศ.เกียรติคุณ นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันปฏิเสธยากเมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับชีวิต ในมุมมองตนมองเห็นปัญหาการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง ทั้งการอ่าน พูดผิดเพี้ยน เขียนสะกดผิดเยอะ ผลมาจากโซเชียลมีเดียที่เรามักจะเขียนคำแบบย่อส่วน เช่น เดี๋ยว-เด๋ว หน้าที่สำคัญของราชบัณฑิตคือการอนุรักษ์ภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม แท้จริงภาษาไทยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามแต่ละยุคสมัย แต่การเปลี่ยนแปลงก็ควรตั้งอยู่บนหลักการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องและกาลเทศะ ทั้งยังช่วยส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติให้คงอยู่
ด้าน น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า อีกปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องของคนไทย คือการใช้ภาษาพูดปนกับภาษาเขียนจนกลายเป็นความเคยชิน โดยเฉพาะกับศิลปิน นักแสดง ผู้ที่ทำงานด้านการสื่อสารมวลชนที่ต้องเป็นต้นแบบให้กับคนในสังคมจำนวนมาก วอนขอให้ใช้ภาษาไทยให้ถูกกาลเทศะ หากไม่แน่ใจให้เปิดพจนานุกรม หรือสืบค้นจากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตได้ เพื่อช่วยกันรักษาและปลูกจิตสำนึก ให้คนไทยเห็นคุณค่าในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง .-สำนักข่าวไทย