กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – “ประภัตร” สั่งกรมชลประทานเร่งปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนภูมิพล จากวันละ 23 ล้าน ลบ.ม. เป็น 25 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์จากวันละ19 ล้าน ลบ.ม. เป็น 20 ล้าน ลบ.ม. พร้อมหยุดสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตลอดแนวลุ่มน้ำปิง-น่านกว่า 400 สถานี เพื่อยกระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้สูงขึ้นทดเข้าระบบชลประทานเลี้ยงนาข้าวกว่า 17 ล้านไร่
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งต้องส่งน้ำให้นาข้าวกว่า 17 ล้านไร่ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน เพื่อให้ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ช่วงกลางเดือนสิงหาคม จึงเร่งปรับเพิ่มระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จากแผนเดิมจะลดระบายน้ำเขื่อนภูมิพล จากวันละ 23 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 20 ล้านลบ.ม. และเขื่อนสิริกิต์จากวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 19 ล้าน ลบ.ม. เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนทั้ง 2 แห่ง แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับต่ำมากเมื่อมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท หากระดับน้ำหน้าเขื่อนต่ำจะทดน้ำเข้าระบบชลประทานไม่ได้ ทำให้พื้นที่เกษตรเสี่ยงเสียหายมากขึ้น
นายประภัตร กล่าวว่า ขณะนี้ความสูงของน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ระดับ 14.3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งผลให้น้ำไม่ไหลเข้าคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ซึ่งมีความยาว 104 กิโลเมตร จึงไม่มีน้ำส่งให้พื้นที่เกษตรที่รับน้ำจากคลองนี้หลายแสนไร่ น้ำไม่เพียงพอจัดสรรให้คลองส่งน้ำ 24 คลอง ซึ่งมีปัญหาทะเลาะแย่งน้ำกันตลอด เป็นเรื่องเรื้อรังหนักขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปีนี้ฝนทิ้งช่วง จึงได้ประสานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งชัยนาทและสุพรรรณบุรีมาทำความเข้าใจ การระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลปรับเพิ่มเป็นวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ปรับเพิ่มเป็นวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนลงมาสั่ง อบต.หยุดสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำไฟฟ้ากว่า 400 สถานีตลอดแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านตลอดสาย เพื่อไม่ให้น้ำถูกดึงไปใช้ระหว่างทาง ซึ่งกำหนดให้หยุดสูบน้ำ 3 วัน คาดว่า ปริมาณน้ำที่ปรับเพิ่มจะมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ เพื่อช่วยเลี้ยงนาข้าวกว่า 17 ล้านไร่ หากไม่เพียงพออาจมีการปรับระบายเพิ่มอีกรอบ จนกระทั่งเก็บเกี่ยวกลางเดือนสิงหาคม สำหรับปริมาณน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้มีน้ำใช้การได้ 1,300 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับอุปโภค- บริโภคแน่นอน ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก แต่จำเป็นต้องจัดสรรปันส่วนเป็นน้ำเพื่อการเกษตร โดยพิจารณาอย่างรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่มีส่วนใดเดือดร้อน ทุกฝ่ายได้ใช้น้ำผ่านพ้นวิกฤติไปจนกฝนตกตามปกติ
นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า รู้จักพื้นที่นี้ดีกว่าใคร จึงหารือกับทุกหน่วยงานแล้วและสั่งการให้อธิบดีกรมชลประทานเพิ่มปริมาณการระบาย โดยเรียกว่า “การกระแทกน้ำ” เพื่อให้น้ำจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านไหลมารวมที่จังหวัดนครสวรรค์มีระดับสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยายกสูงขึ้น จากระดับ 14.3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางเป็น 15-15.2 เมตรจากกระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับที่สามารถทดเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำได้
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มคลี่คลายแล้ว เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) มีฝนตกมากพอสมควรในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยฝนจะตกปลายเดือนนี้และต้นเดือนหน้าจะมีฝนตกตามปกติ
นอกจากนี้ ได้สั่งการกรมส่งเสริมการเกษตรให้เกษตรอำเภอสำรวจความเสียหาย ซึ่งจะพบกับเกษตรกร ไม่ใช้วิธีเดิมที่นั่งรอชาวนามาแจ้ง อีกทั้งปัจจุบันมีระบบออนไลน์ทั่วประเทศสามารถส่งข้อมูลและถ่ายภาพพื้นที่จริงประกอบมาด้วย รายงานพื้นที่ที่เสียหายว่ามีกี่ไร่ เป็นการเกษตรชนิดใดบ้าง รัฐบาลจะช่วยได้ตรงจุด ถ้าเกษตรกรยังไม่ขึ้นทะเบียนก็รับขึ้นทะเบียนในพื้นที่ได้เลย ต้องทำงานเชิงรุกและเข้าถึงทุกพื้นที่
นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีหลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเปิดศูนย์ช่วยเหลือภัยแล้ง ซึ่งจะทำงานร่วมกันทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมาตรวจสอบว่าพื้นที่ใดสามารถเจาะบ่อน้ำบาดาลหรือบ่อตอกได้ก็ให้ดำเนินการทันที เพื่อแก้ไขปัญหาขาดน้ำทั้งอุปโภค-บริโภคและเพื่อการเกษตร.-สำนักข่าวไทย