ภูมิภาค 6 ต.ค. – กรมชลประทานประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปิดการระบายน้ำเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ ลดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ประสาน กฟผ. ปิดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง ปิดการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน่าน และลดการระบายน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ลงครึ่งหนึ่ง เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำน่าน
การปิดการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ รวมถึงการลดปริมาณการระบายของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นการชะลอน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจะไหลต่อมายังเขื่อนเจ้าพระยาและระบายผ่านท้ายเขื่อนสู่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
การใช้เขื่อนเจ้าพระยาชะลอน้ำไว้ที่หน้าเขื่อน เพื่อระบายผ่านท้ายเขื่อนในอัตราไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำ 3 จังหวัด เหนือเขื่อน ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี และนครสวรรค์ สูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งทั้ง 2 ฝั่ง เข้าพื้นที่การเกษตรและชุมชนริมน้ำ นอกคันกั้นน้ำบริเวณอำเภอเมืองชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ และอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 700 ครัวเรือนนอกจากนี้ ยังทำให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ไม่เกินความจุลำน้ำที่ 3,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ล่าสุดเช้าวันนี้น้ำเหนือไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจนถึง 3,000 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้น กรมชลประทานจึงปรับเพิ่มปริมาณน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาสำหรับรับเข้าทุ่งลุ่มต่ำและเพิ่มการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเล็กน้อย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำมากขึ้น ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์คงปริมาณการระบายตามแผนจัดจราจรน้ำ.-สำนักข่าวไทย