กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – กรมชลประทานเร่งสูบน้ำเข้าสู่ระบบประปาจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมประสานขุดเจาะบ่อบาดาล ส่วนพื้นที่เกษตรท้ายเขื่อนอุบลรัตน์นำน้ำสำรองส่งให้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูกกว่า 160,000 ไร่
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 รายงานว่าขณะนี้กำลังขุดร่องชักน้ำเข้าสู่หัวสูบประปาและสูบน้ำบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดมายังบริเวณจุดสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคให้ได้มากที่สุด พร้อมกับจัดหาแหล่งน้ำใกล้เคียงเพิ่มต้นทุนปริมาณน้ำดิบในการผลิตประปา เช่น ผันน้ำจากเหมืองหินเก่าไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดห่างกัน 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำจังหันไปยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) อย่างต่อเนื่อง โดยส่งน้ำได้ประมาณวันละ 65,000 ลบ.ม. รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาน้ำบาดาลพิจารณาเจาะและติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกันกับน้ำผิวดิน
สำหรับมาตรการระยะกลางจะร่วมกับกรมการทหารช่างขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด รวมทั้งขุดลอกเพิ่มความจุน้ำบริเวณหน้าฝายสถานีสูบน้ำลำปลายมาศ และก่อสร้างแนวผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปะเทียไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งอยู่ในแผนงานก่อสร้างปี 2562-2563 ส่วนมาตรการระยะยาว ได้ประสานกับการประปาส่วนภูมิภาคให้พิจารณาตั้งสถานีผลิตน้ำประปาบริเวณอำเภอโนนดินแดง โดยใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำนางรอง เพื่อเสริมความมั่นคงประปาส่งให้กับพื้นที่อำเภอโนนดินแดง ประคำ นางรอง และอำเภอเมืองบุรีรัมย์
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์อยู่ในเกณฑ์น้อย ขณะที่ยังคงต้องส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้อย่างทั่วถึงเป็นธรรมและยาวนานที่สุด
นายทองเปลว กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ว่า มีปริมาณน้ำ 568 ล้าน ลบ. ม. น้ำใช้การ 0% เพื่อช่วยเหลือประชาชน จึงได้สั่งการให้นำน้ำสำรองมาใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคประมาณ 13 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการให้ความช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรกว่า 160,000 ไร่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายจะส่งน้ำจากฝายหนองหวายประมาณ 10 ล้านลบ. ม. มายังพื้นที่ที่ขาดแคลนตามรอบเวรที่กำหนด เริ่มส่งน้ำวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เพื่อดูแลพื้นที่ที่เพาะปลูกแล้วให้มีน้ำเพียงพอจนกระทั่งเก็บเกี่ยว
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งประชาสัมพันธ์เกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกสม่ำเสมอ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า ฝนจะเริ่มตกอีกครั้งปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน อีกทั้งคาดการณ์ว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนอย่างน้อย 1 ลูกเข้าประเทศไทยเดือนกันยายน ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย รวมทั้งจะมีน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งกรมชลประทานจะนำมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง 2562/2563
“ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรักษากติกาการรับน้ำตามรอบเวรและใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้อย่างทั่วถึง” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย