นนทบุรี 16 ก.ค. – พาณิชย์พร้อมเดินหน้าระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน หลังผลักดันทบทวนระเบียบปฏิบัติการ สำเร็จตามเป้าหมาย
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน ฉบับทบทวนล่าสุด ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ร่วมเจรจาจัดทำร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อผ่านการรับรองโดยคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียนเดือนกันยายน 2562 ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะบังคับใช้ระเบียบปฏิบัติฯ ฉบับทบทวนล่าสุดอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2563
ทั้งนี้ การทบทวนระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนครั้งนี้มีผลให้เกิดความชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียวของเงื่อนไขและแนวปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองจากเดิมจำแนกสมาชิกอาเซียนออกเป็น 2 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มต่างมีเงื่อนไข ระเบียบ และแนวปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของตนซึ่งแตกต่างกันไป ส่งผลให้เกิดความสับสนและความไม่สะดวกแก่ผู้ประกอบที่ประสงค์จะรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน ความชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียวของเงื่อนไขและแนวปฏิบัติฯ ภายใต้ฉบับทบทวนล่าสุดช่วยยกระดับความโปร่งใสและความสะดวกในการยื่นขอรับสิทธิ์การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าจากศุลกากรปลายทางในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกที่ประสงค์จะรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเพื่อขอรับสิทธิการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนต้องดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (CE) จากกรมการค้าต่างประเทศ โดยกรมจะดำเนินการแจ้งไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เพื่อทราบว่าผู้ส่งออกไทยรายใดเป็นผู้ส่งออกที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับสิทธิ์รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และกรมอยู่ระหว่างการหารือร่วมกัประเทศสมาชิกอาเซียน และที่ปรึกษาด้านเทคนิคของอาเซียนเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูล (CE Database) เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบว่าผู้ส่งออกที่ดำเนินการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของประเทศผู้ส่งออกต้นทางหรือไม่ ซึ่งกรณีประเทศไทย คือ กรมการค้าต่างประเทศ ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนสะดวก โดยมีต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถรับรองว่าสินค้าที่ส่งออกมีคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้หลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนบนเอกสารทางการค้าที่กำหนดไว้ด้วยตนเอง
นอกจากประเด็นการทบทวนและจัดทำระเบียบปฏิบัติสำหรับระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (AWSC) แล้ว ระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน ฉบับทบทวนล่าสุดได้เพิ่มการยอมรับการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e Form D ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกที่ยอมรับ e Form D เป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณาให้สิทธิ์ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้า 7 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้ คาดว่าภายในต้นปีหน้าสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบ e Form D ซึ่ง คต.ได้พัฒนาระบบรองรับการออกและเชื่อมโยง e Form D ไปยังกรมศุลกากร ซึ่งเป็น NSW (National Single Window) ของไทย สำหรับเชื่อมโยงต่อไปยัง ASEAN Single Window (ASW) แล้วเสร็จมาตั้งแต่ต้นปี 2561
ทั้งนี้ ระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน ฉบับทบทวนล่าสุดได้อนุญาตให้ละเว้นการระบุมูลค่า FOB บนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับทุกกรณี จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระบุมูลค่า FOB กรณีสัดส่วนวัตถุดิบภายในภูมิภาค (RVC) ซึ่งส่งจะช่วยลดความสับสนและลดความเสี่ยงในการถูกชะลอการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากศุลกากรปลายทาง เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของราคาที่ปรากฏบนใบกำกับราคา/การสำแดงราคาและราคาบนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร กรณีที่มีผนวกการออกใบกำกับราคาโดยประเทศที่สาม และการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าโดยประเทศคนกลางเข้าด้วยกัน ผู้สนใจเกี่ยวกับความคืบหน้าการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 และเว็บไซต์ www.dft.go.th .-สำนักข่าวไทย