กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – เอกชนระบุจะขึ้นค่าแรงต้องผ่านกลไกไตรภาคีและพัฒนาฝีมือ หากขึ้นผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ แรงงานต่างด้าว ขณะที่เอสเอ็มอีตายหมด
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้ง ว่า ในมุมมองของภาคเอกชนขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่ดี หากปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) แน่นอน ทั้งนี้ การปรับค่าแรงจะต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการไตรภาคีและค่าแรงแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน โดยจะสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของพื้นที่นั้น ๆ เรื่องที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญขณะนี้ คือ จะปรับเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร เพื่อจะให้แรงงานมีโอกาสได้รับรายได้มากขึ้น และไม่เห็นด้วยในการปรับขึ้นค่าแรงทันทีอยู่แล้ว
“ค่าแรงขั้นต่ำจะราคาเดียวทั่วประเทศไม่ได้ ที่สำคัญแรงงานลักษณะนี้ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือ แรงงานต่างด้าว เราจะเสียผลประโยชน์อีกเป็น 1,000 เป็น 10,000 ล้านบาท และค่าแรงส่วนนี้ก็ไม่หมุนกลับมาเศรษฐกิจในประเทศ คนไทยส่วนใหญ่มีค่าแรงที่ดีขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมุ่งปรับทักษะฝีมือแรงงานของแรงงานไทยให้สูงขึ้นได้อย่างไร” นายสุพันธุ์ กล่าว
นอกจากนี้ การจะปรับค่าแรงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศด้วย ซึ่งเศรษฐกิจไทยขณะนี้ชะลอตัว การที่จะให้เศรษฐกิจดี ไม่ใช่การที่รัฐบาลไปกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การที่เศรษฐกิจดีจะต้องทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้น และมีการจ้างงานที่สูง ก็จะทำให้ค่าแรงปรับสูงขึ้นเอง การกำหนดค่าแรงขึ้นท่ามกลางสภาวะอย่างนี้เอสเอ็มอีตายหมด เกษตรกรก็มีปัญหา เพราะต้องจ้างงาน ดังนั้น รัฐบาลต้องยกเลิกพูดเรื่องค่าแรงได้แล้ว ควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานแทนจะทำให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาได้อย่างไร เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถปรับตัวได้ดีขึ้น
“เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะมาดูแลเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้สามารถลดหย่อน หรือใช้นโยบายภาษีให้ได้ประโยชน์ที่สุดในการลดหย่อนภาษี” นายสุพันธุ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย