กรุงเทพฯ 7 ก.ค. – กรมส่งเสริมสหกรณ์ชี้การตลาดนำการผลิต เห็นผลเกษตรกรรายได้พุ่ง โชว์ผลงานเด่นสหกรณ์บุรีรัมย์ผลิตข้าวขึ้นเครื่องการบินไทย
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงสีข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาประเคียบ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายไทยนิยม ยั่งยืนเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรฐานรากให้เข้มแข็ง รวมทั้งนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ทุกหน่วยงานดำเนินนโยบายการตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด เกษตรกรไม่มีที่ขาย ราคาตกต่ำ โดยกรมเร่งส่งเสริมเกษตรกร รวมกลุ่มขยายผลเกษตรครบวงจรใช้กลไกสหกรณ์ทั้งระบบจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ และภาครัฐ ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเรื่องปัจจัยการผลิต เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรอยู่ในอาชีพได้อย่างมั่นคงและมีรายได้ดีขึ้น ได้แก่ โรงสีข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบได้รับเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 16,272,000 บาท กลุ่มเกษตรกรสมทบ 1,808,000 บาท เพื่อจัดหาอุปกรณ์ เช่น โรงสีข้าว ขนาด 24 ตันต่อวัน พร้อมอุปกรณ์และโรงเรือน 1 แห่ง เครื่องยิงสี ขนาด 130 ช่อง 1 เครื่อง, เครื่องบรรจุสูญญากาศขนาด 1 แรงม้า 1 เครื่อง เครื่องชั่งและบรรจุกึ่งอัตโนมัติขนาด 15 – 50 กิโลกรัม 1 เครื่อง ซึ่งกลุ่มเกษตรกรกำหนดแผนการดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือก 2,000 ตัน เพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่าย
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สั่งซื้อข้าวสารของกลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบกว่า 100 ตัน กลุ่มเกษตรกรทำนาปะเคียบปัจจุบันมีสมาชิก 405 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักทำนา โดยดำเนินธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายเช่น ปุ๋ย ธุรกิจรวบรวมผลผลิต รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการแปรรูป ธุรกิจแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและผลิตสินค้า ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยกลุ่มสหกรณ์เชื่อมโยงเครือข่ายข้าวเปลือกกับสหกรณ์การเกษตรที่รวบรวมข้าวเปลือกในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด สหกรณ์การเกษตรพุทไธสง จำกัด สหกรณ์การเกษตรนาโพธิ์ จำกัด กลุ่มนาแปลงใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียง และการเชื่อมโยงเครือข่ายข้าวสารกับกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อวากิลบุรีรัมย์, สหกรณ์การเกษตรนาโพธิ์ จำกัด โดยได้ให้คำแนะนำในการวางแผนการผลิตทั้งปีอย่างเป็นระบบ การหาตลาดรองรับผลผลิต การเชื่อมโยงเครือข่ายกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ การปรับปรุงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เป็นที่น่าสนใจ เพื่อยกระดับสินค้าของกลุ่มเกษตรกรเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย