กทม. 6 ก.ค.- ชมรมเภสัชกรปฐมภูมิฯ แนะเร่งสกัด “สารไซบูทรามีน” ลดความอ้วน หลังยังแพร่ระบาด สุ่มตรวจพบใน 145 ผลิตภัณฑ์ การเพิ่มโทษไม่เป็นผล ขณะที่รองเลขา อย. เตือนห้ามทานยาชุดลดความอ้วน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
การเสียชีวิตของ น.ส.มรกต เจริญกิจ แม่ลูกอ่อนวัย 30 ปี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ครอบครัวเชื่อว่าต้นเหตุมาจากการทานยาชุดลดความอ้วนที่สั่งซื้อทางออนไลน์ ทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด อาเจียน หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตในที่สุด รองเลขาธิการ อย. บอกว่า จากการตรวจสอบเคสนี้ พบยาถึง 8 ชนิด ใน 1 ชุด ในจำนวนนี้เป็นยาลดน้ำหนักถึง 4 เม็ด เข้าข่ายใช้ยาเกินขนาด
ข้อมูลจาก อย. พบว่า 2 ปีมานี้ มีการลักลอบขายยาลดความอ้วนทางออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย จากเดิมที่ผสมอยู่ในอาหารเสริม ซึ่งอาจไม่ได้ผลมากนัก ปัจจุบันพัฒนามาขายเป็นยาชุด ชุดละ 5-6 เม็ด ส่วนใหญ่ประกอบด้วย
• ไซบูทรามีน ช่วยลดความอ้วน ทำให้ไม่หิว แต่เป็นยาควบคุมพิเศษที่มีผลต่อจิตและประสาท มีความเสี่ยงสูงเป็นอันตรายถึงชีวิต
• ฟลูออกซิทีน ยาลดความอ้วนอีกหนึ่งชนิดที่อันตรายและมีผลข้างเคียง
• แอลคาร์นิทีน ช่วยเผาผลาญไขมัน
• ยารักษาโรคไทรอยด์ ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ทำให้รู้สึกผอม มีผลต่อระบบหัวใจ
• บิซาโคดิล ช่วยขับถ่าย ลดน้ำหนัก
ในบางชุดยังมีการเพิ่มยาขับปัสสาวะ และยานอนหลับเข้าไปได้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นยาอันตรายที่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น
ขณะที่ข้อมูลจากชมรมเภสัชกรปฐมภูมิ (ประเทศไทย) ระบุการสุ่มตรวจกาแฟและผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักในท้องตลาด ระหว่างปี 2557-2561 พบสารไซบูทรามีน 145 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ไซบูทรามีนอย่างเดียว 125 ตัวอย่าง ผสมร่วมกับสารอื่นๆ อีก 20 ตัวอย่าง เช่น ฟลูออกซิทีน, บิซาโคดิล, ฟีนอล์ฟทาลีน, ออริสแตท ฯลฯ และพบผู้ป่วยจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึง 70 ราย ในจำนวนนี้คาดเสียชีวิตจากสารไซบูทรามีนอย่างน้อย 14 ราย
แม้จะมีการยกระดับสารไซบูทรามีนเป็น “วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท1” แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาปลอมปนสารไซบูทรามีนในยาลดน้ำหนักลดลง จึงมีการเสนอให้สกัดช่องทางลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนสู่วงจรผลิตยากลดน้ำหนักอย่างเข้มงวด ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงคำโฆษณาควบคุมน้ำหนัก ตรวจสอบก่อนออกสู่ท้องตลาด และสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดทำกลไกตรวจสอบและเฝ้าระวังโดยภาคประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย. – สำนักข่าวไทย