นนทบุรี 5 ก.ค. – อธิบดีกรมการค้าภายในขยายเวลาโรงพยาบาลเอกชนเสนอต้นทุนราคายา จาก 12 ก.ค.เป็นไม่เกิน 31 ก.ค.นี้ หลังส่งข้อมูลมาแล้วเพียงแค่ 20 โรงพยาบาล
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้เห็นชอบกำหนดสินค้าและบริการ 52 รายการตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เสนอ ซึ่งกลุ่มยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการในโรงพยาบาล เสนอให้เป็นสินค้าควบคุมและสามารถใช้มาตรการต่าง ๆ ในการดูแลกำชับ เพื่อให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยมาตรการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ ให้โรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง จัดส่งรายละเอียดราคายากลุ่มบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่แต่ละโรงพยาบาลซื้อและขาย และรายการยาที่จำหน่ายสูงสุด 100 รายการแรก รวม 3,992 รายการ มายังกรมการค้าภายในภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเดิมกำหนดให้จัดส่งภายใน 12 กรกฎาคม 2562
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่มีการขยายเวลาจัดส่งข้อมูลจากเดิม เพื่อให้ทางโรงพยาบาลเอกชนมีเวลาจัดทำข้อมูล ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลส่งข้อมูลครบถ้วนเพียง 20 แห่ง จากทั้งหมด 353 แห่งเท่านั้น และหลังจากได้ข้อมูลจะนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่กรมฯ มีอยู่และได้รับจากภาคเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำรายการยาทั้งหมดขึ้นเว็บไซต์ของกรมฯ และจัดส่งให้โรงพยาบาลทำคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ประชาชนและผู้ป่วยทราบข้อมูล โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 ซึ่งข้อมูลที่ขึ้นเว็บไซต์และอยู่ในคิวอาร์โค้ดจะเป็นราคายาซื้อขายแต่ละโรงพยาบาลจัดส่งมาและกรมฯ เปรียบเทียบกับข้อมูลของกรมแล้วเห็นว่าไม่ได้เป็นการค้ากำไรเกินควร โดยแต่ละโรงพยาบาลจะมีต้นทุนและราคาซื้อขายแตกต่างกัน เป็นการแสดงให้ผู้ป่วยมีทางเลือกตัดสินใจว่าจะรักษาที่ใดหรือหาซื้อยาในโรงพยาบาลหรือนอกโรงพยาบาล
ทั้งนี้ โรงพยาบาลใดไม่มีการติดคิวอาร์โค้ด ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ในมาตราไม่แสดงราคาสินค้า มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงปรับรายวัน 2,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการถูกต้อง ส่วนการแจ้งราคาค่าบริการจะเป็นสเต็บต่อไป เช่นเดียวกับการเพิ่มมาตรการคุมกำไรการค้าหากพบว่าโรงพยาบาลใดคิดราคายาและค่ารักษาแพงเกินจริงหลายร้อยหลายพันเท่า ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยร้องเรียนเข้ามาต่อเนื่องประมาณ 20 ราย และในจำนวนนี้ 2-3 รายอยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึก จากที่ส่ง 1 กรณีแล้วให้ตำรวจดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย ส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามาจะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ และเชื่อว่าหลังมีการระบุราคายาอาจมีประชาชนแสดงความสนใจและร้องเรียนได้.-สำนักข่าวไทย