กรุงเทพฯ 30 มิ.ย. – พพ.เร่งศึกษาการจัดการขยะแผงโซลาร์ เบื้องต้นกระจก กรอบอลูมิเนียมรีไซเคิลได้สารพิษต่ำ พร้อมยื่นกองทุนอนุรักษ์ติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำอ่างเล็ก 10 แห่ง หากติดตั้งหมดใช้เงินรวมกว่า 800 ล้านบาท
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนเริ่มหันมาใส่ใจในการพัฒนาเทคโนโลยีและติดตั้งการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์ทั้งรูปแบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) มากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเองใช้เอง (IPS) โดยกรณีแผงผลิตไฟฟ้าเมื่อหมดอายุจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะจัดการอย่างไรนั้น ทาง พพ.ได้ว่าจ้าง บ.เพเนอร์จี จำกัด ศึกษาถึงวิธีการกำจัดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระยะ 6 เดือน โดยจะรายงานผลการศึกษาอย่างเป็นทางการภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เบื้องต้นพบว่าในส่วนของกระจกและกรอบอะลูมเนียมสามารถรีไซเคิลได้และพบว่าสารพิษที่เกิดขึ้นจริง ๆ ค่อนข้างต่ำ ซึ่งรายละเอียดของจะต้องรอสรุปอย่างทางการอีกครั้ง
นายยงยุทธ ยังกล่าวด้วยว่า พพ.อยู่ระหว่างเตรียมที่จะยื่นของบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานปีงบประมาณ 2563 ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนดินแบบลอยน้ำ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ต่อยอดการผลิตไฟฟ้าจากอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนขนาดเล็กที่อยู่ในความดูแลของ พพ.ที่มีศักยภาพ 9 แห่ง โดยจะนำร่องที่โครงการพลังน้ำคีรีธาน จ.จันทบุรีก่อนด้วยขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1.5 เมกะวัตต์ จากที่เขื่อนคีรีธานผลิตไฟอยู่แล้ว 12 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 9 เขื่อน หากติดตั้งโซลาร์ฯ ลอยน้ำเพิ่มอีกรวมกัน 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินเงินทุนรวมกันทั้งหมด 750 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายยงยุทธ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำและบนหลังคา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำประปาของบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมหนองแค เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งโครงการนี้ได้รางวัลดีเด่นThailand Energy Awards 2019 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) และเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าชิงรางวัลในเวทีประกวดอาเซียน เอเนอร์จี อวอร์ด (ASEAN Energy Awards 2019 ) ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ . -สำนักข่าวไทย