กรุงเทพฯ 26 มิ.ย. – กฟผ.มั่นใจนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรกเดือน ก.ย.นี้ หลังเจรจา ปตท. ไม่กระทบจนสร้างปัญหาเทคออร์เพย์
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝายผลิตแแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าจากที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้หารือกับ บมจ.ปตท. เพื่อป้องกันปัญหาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว โดย กฟผ.ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี ไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้าและไม่กระทบสัญญาเดิมกับ ปตท.จนเกิดปัญหาค่าปรับตามสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take Or Pay) นั้นในขณะนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นกับ ปตท.แล้วว่า จะไม่เกิดปัญหาดังกล่าวเพราะตามร่างสัญญาที่ กฟผ.จะนำเข้ากับผู้ประมูลได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า มีปริมาณเป็นสัดส่วนร้อยละของการนำเข้าที่สามารถลดและเพิ่มได้ โดยพบว่าในปี 2563 กฟผ.สามารถบริหารจัดการจนไม่กระทบต่อสัญญาที่ซื้อก๊าซจาก ปตท.แน่นอน ซึ่งเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ชุดใหม่ พิจารณาโดยตามกรอบเวลายังเชื่อมั่นว่า กฟผ.จะนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรกภายในเดือนก.ย.นึ้
“การประมูลซื้อแอลเอ็นจีล็อตแรกของ กฟผ. ไม่ล้มแน่นอนและจะนำเข้าล็อตแรก ก.ย.นี้ และจะไม่กระทบให้เกิดปัญหาเทคออร์เพย์แน่นอนและจากการประเมินการใช้ก๊าซล่าสุดเดือน เม.ย.- พ.ค. ก็เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ4 จากเดิมเดือน ม.ค.ขยายตัวร้อยละ1” นายธวัชชัยกล่าว
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ว่า ปตท. ได้มีหนังสือแจ้งถึงกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)แล้วว่า ความต้องการใช้ก๊าซภายในประเทศเพื่อการผลิตไฟฟ้าไม่ได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากตามที่คาดการณ์ไว้ และยังคงมีการผลิตก๊าซจากแหล่งในอ่าวไทยเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าได้ตามแผน รวมทั้งยังมีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเสริมความต้องการ ทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มปริมาณ LNG เพิ่มเติมไปจากสัญญาระยะยาวที่ ปตท. มีอยู่ โดย LNG 5.2 ล้านตันต่อปี ที่ ปตท. ทำไว้กับทั้ง กาตาร์ บีพี เชลล์และเปโตรนาส ยังมีเหลือพอที่จะรองรับความต้องการไปได้อีกระยะหนึ่ง หากยังคงมีการนำเข้า LNG จาก กฟผ. ล็อตใหม่ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ตามนโยบาย จะทำให้ กฟผ.ไม่สามารถรับก๊าซตามสัญญาที่ทำไว้กับ ปตท. ได้ และจะมีปัญหาภาระเรื่อง Take or Pay คือ ไม่รับก็ต้องจ่าย ซึ่งภาระดังกล่าวจะถูกนำไปคิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชน โดยเรื่องดังกล่าวถือเป็นการตัดสินใจในเชิงนโยบายที่รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่จะต้องพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปิโตรนาส แอลเอ็นจี เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด จากบรรดาผู้แข่งขันทั้งหมด 12 รายของ กฟผ.บนเงื่อนไขหลักราคาขายต้องต่ำกว่าสัญญาระยะยาวของ ปตท. โดยปิโตรนาสเสนอขาย1.2ล้านตัน/ปี . – สำนักข่าวไทย