กรุงเทพฯ 18 มิ.ย. – อธิบดีกรมการขนส่งทางรางแย้มแนวทางแก้ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมจับมือกระทรวงการคลังนำภาษีลาภลอยจัดตั้งกองทุนชดเชยค่าโดยสาร โดยจะเสนอรัฐบาลใหม่เห็นชอบเร็ว ๆ นี้
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวถึงกรณีที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยแพง เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีระบบรถไฟฟ้าให้บริการ และเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็ง แต่กลับมีค่าโดยสารถูกกว่าไทย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องดูข้อมูลให้รอบด้าน เบื้องต้นต้องยอมรับว่า หลายประเทศใช้แนวทางเก็บค่าโดยสารถูกกว่าต้นทุน โดยภาครัฐเข้าไปอุดหนุน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือรถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในการแก้ปัญหาจราจรติดขัด ลดการใช้พลังงานในรถยนต์ส่วนบุคคลและช่วยลดปัญหามลพิษ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมการขนส่งทางรางนั้น ยอมรับว่ามีแนวทางการศึกษาที่จะพิจารณาทำให้ค่าโดยสารถูกลง 2 แนวทาง คือ การใช้มาตรการภาษีช่วยสนับสนุนให้ผู้ใช้ระบบรถไฟฟ้าได้ประโยชน์ทางอ้อม เช่น การลดภาษีบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่ส่งเสริมให้พนักงานมาใช้รถไฟฟ้า ส่วนแนวทางที่ 2 คือ การตั้งกองทุนและนำเงินกองทุนไปชดเชยค่าโดยสาร โดยภาครัฐดูแลก็จะทำให้ค่าโดยสารถูกลง
“กองทุนที่ตั้งขึ้นอาจมีที่มาของเงินในกองทุน เช่น การนำเงินจากภาษีลาภลอยที่กระทรวงการคลังศึกษา แนวทาง คือ กรณีผู้มีที่ดินและมีโครงการรถไฟฟ้าตัดผ่าน ทำให้มูลค่าที่ดินสูงขึ้น หากขายที่ดินจากมูลค่าที่สูงขึ้นก็จะนำเงินภาษีที่เกิดจากการซื้อขายส่วนหนึ่งเข้ากองทุนฯ ก็จะช่วยให้กองทุนมีเงินเข้ามาหมุนเวียน” นายสราวุธ กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางในการแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง หลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารงาน และมีแนวนโยบายชัดเจนเรื่องค่าโดยสาร ทางกรมการขนส่งทางรางจะมีการเสนอเรื่องแนวทางการทำงาน โดยขอให้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง เพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้ ขับเคลื่อนการทำงานจนกว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยอำนาจของกรมการขนส่งทางรางจะผ่านสภาฯ มีผลบังคับใช้ คาดว่าประมาณปลายปี 2562 ซึ่งหลังจากนั้นการทำงานจะมีคณะกรรมการที่มีลักษณะเป็น บอร์ดกำกับค่าโดยสารมารับไม้ต่อ
สำหรับการผลักดันลดค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้น ในส่วนของโครงการที่มีคู่สัมปทานกับภาครัฐอยู่เดิมจะไปดำเนินการให้ค่าโดยสารถูกลงนั้น จะต้องไปดูสัญญาว่าเปิดช่องใหม่ และจะใช้การเจรจาได้ไหม ส่วนรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะทยอยเปิดบริการในส่วนนี้สามารถกำหนดเพดานของราคาสูงสุดไว้ แล้วนำเงินกองทุนฯ มาชดเชยส่วนต่างตามแนวทางที่กล่าวไปแล้ว
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางยังได้จัดทำแผนที่ระบบรถไฟฟ้าฉบับกรมการขนส่งทางรางขึ้น ถือเป็นฉบับใหม่ ที่รวมโครงข่ายระบบรางไว้ทั้งหมด มีระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ครอบคลุมระบบรถไฟฟ้าในสังกัดกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานครอีก 3 เส้นทาง โดยกรมการขนส่งทางรางจะเผยแพร่ให้สาธารณะทราบโครงข่าย และสถานีที่มีทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ผลการศึกษาที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ศึกษาไว้ เมื่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีโครงข่ายรถไฟฟ้ามากกว่า 500 กิโลเมตร ก็จะมีเป็น “มหานครระบบรางตามเป้าหมาย” และมั่นใจว่าปี 2568 กรุงเทพมหานครจะมีผู้ใช้ระบบรางวันละ 4-5 ล้านคน.-สำนักข่าวไทย