กรุงเทพฯ 16 ก.ย. – ภาครัฐ-เอกชน -นักวิชาการ ผนึกกำลัง ศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำจัดซาก 4 แสนตัน/ปี ไม่สร้างมลพิษ เริ่มทั้งผู้ใช้ ซาเล้ง การแยกขยะ ด้าน คพ.ผลักดันร่างกฎหมายดูแลให้ชัดเจนภายใน ก.ย.64 ตั้งกองทุนฯ ดูแลเก็บเงินจากผู้ซื้อเป็นหลัก
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ในงานเปิดตัวโครงการ “ศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ว่าภาครัฐ เอกชน สถาบันวิชาการ ร่วมกันศึกษาเพื่อผลักดันให้เกิดระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายฟังความเห็นรอบด้าน คาดว่าร่างกฎหมายจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2564
โดยใจความสำคัญ คือ ให้มีการกำจัดดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ป้องกันปัญหามบพิษ ซึ่งปัจจุบันนี้ไทยห้ามนำเข้าซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้ว ขณะนี้ปริมาณซากฯ ในประเทศ มีประมาณ 400,000 ตัน จาก 5 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ 1. คอมพิวเตอร์ 2. เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย 3. เครื่องปรับอากาศ 4. เครื่องรับโทรทัศน์ 5. ตู้เย็น ดังนั้น แนวทางการดูแลจะมีการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาบริหารจัดการ และตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาดูแลแหล่งที่มาของรายได้จะอยู่ในราคาสินค้า เช่น ตู้เย็นราคา 10,000 บาท จะมีการจัดเก็บเข้ากองทุนฯ 500 บาท เป็นต้น ซากผลิตภัณฑ์ฯ เหล่านี้มีส่วนประกอบทั้งส่วนที่มีมูลค่าและส่วนที่มีความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่มีระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ที่เหมาะสมและครอบคลุมทั้งการจัดเก็บ การรวบรวม การคัดแยก การถอดแยกชิ้นส่วน และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ฯ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นระบบทำให้ประชาชนทิ้งซากผลิตภัณฑ์ฯ ปนอยู่กับสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย หรือมีการจัดการที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้ถอดแยกและสะสมในสิ่งแวดล้อม โดยระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งกลุ่มผู้ผลิต ผู้รวบรวม ผู้ขนส่งและโรงงานถอดแยกชิ้นส่วน
“ขณะนี้แม้ร่างกฏหมายของไทยยังไม่มีการกำจัดซาก ซากผลิตภัณฑ์ฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ภาครัฐก็ต้องประชาสัมพันธ์ร่วมมือให้เกิดการคัดแยกอย่างถูกวิธี เช่น ซาเล้ง หาบเร่ เพื่อป้องกันมลพิษ โดยร่างกฎหมายที่จะออกมาปีหน้าก็จะครอบคลุมทุกด้าน มีกองทุนฯ ที่เกิดจากผู้ใช้เป็นผู้จ่าย นั้นก็คืออยู่ในราคาผลิตภัณฑ์ มีบทลงโทษที่เหมาะสม ซึ่งก็จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้” นายประลอง กล่าว
นายยงยุทธ ศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.สนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยฯ ครั้งนี้ 5 ล้านบาท จากวงเงินวิจัยและพัฒนาต่อปี 1,300 ล้านบาท โดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) เป็นแกนหลักในการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 – พฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้ โครงการฯ จะเริ่มดำเนินกิจกรรมรับคืนซากประมาณการไว้ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2564 และดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ผ่านระบบฐานข้อมูล Digital WEEE Manifest ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือติดตามซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางและจะดำเนินการนำร่องในพื้นที่ตัวอย่าง 2 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดบุรีรัมย์
สำหรับโครงการศึกษานี้ กฟผ.ดำเนินการให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ตลอดจนสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เกิดการปรับปรุง พัฒนากระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และลดการใช้สารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) อย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานของประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย