กรุงเทพฯ 17 มิ.ย. – แม้จะมีการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์ โดยผลักดันให้รถจักรยานยนต์ป้ายดำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง รวมถึงกำหนดจุดตั้งวินให้เหมาะสม แต่นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ออกมาให้ข้อมูลว่า ก็ยังจัดการกับปัญหาการเก็บส่วยไม่ได้ ทำให้เกิดการลักลอบตั้งวินเถื่อน การขัดผลประโยชน์ และเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทบานปลาย
ที่ตั้งของวินรถจักรยานยนต์ หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ บริเวณ ถ.อุดมสุข ที่อยู่ต้นซอย และใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสมากที่สุด จนเกิดการแย่งลูกค้ากับวินรถจักรยานยนต์อุดมสุข 1 ที่อยู่ห่างออกไปเพียง 50 เมตร กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้ง 2 วิน เปิดศึกไล่ยิงและตะลุมบอนกัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน
นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย บอกว่า วินรถจักรยานยนต์อุดมสุข 1 จดทะเบียนจัดตั้งวินรถจักรยานยนต์ถูกต้องตามกฎหมายจริง แต่พบว่ามีการเรียกเก็บส่วยจากผู้ขี่จักรยานยนต์รับจ้างให้กับผู้มีอิทธิพล ทำให้จักรยานยนต์รับจ้างบางคนแยกตัวออกมาตั้งวินหน้าธนาคารไทยพาณิชย์แทน เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จนเกิดความไม่พอใจ และเขม่นกันมาโดยตลอด
ข้อมูลปีนี้จากกรมการขนส่งทางบก พบมีผู้มาขออนุญาตขึ้นทะเบียนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างกว่า 180,000 คน ขณะที่ข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปัจจุบันใน 50 เขตของกรุงเทพฯ มีวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ถูกต้องกว่า 5,500 วิน แต่นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในทุกเขตมักจะมีวินเถื่อนที่แอบลักลอบตั้งขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับอนุญาตถูกต้อง โดยมีผู้มีอิทธิพลเป็นคนเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ขี่จักรยานยนต์รับจ้างในวินนั้นต้องเป็นผู้จ่ายส่วยให้ในแต่ละเดือน ราคาตั้งแต่หลักพันบาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท นอกจากนี้ ใครเป็นผู้ขี่วินรถจักรยานยนต์หน้าใหม่ หากจะเข้ามาสังกัดกับวินเถื่อนอื่นๆ ก็จะต้องจ่ายค่าเปลี่ยนหน้า ซึ่งเป็นค่าแรกเข้าครั้งแรกในราคาหลักหมื่นบาทให้กับผู้มีอิทธิพลในวินนั้น
ก่อนหน้านี้ มีการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้างไปแล้ว โดยมี 4 หน่วยงาน คือ มณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก เป็นผู้รับผิดชอบตั้งแต่การนำวินรถจักรยานยนต์ที่เป็นป้ายดำเข้าระบบจดทะเบียนให้ถูกต้อง และกำหนดจุดตั้งวินรถจักรยานยนต์ที่เหมาะสม รวมถึงลงพื้นที่พูดคุยกับหัวหน้าวินแต่ละพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพล แต่ที่ผ่านมายังมีผู้ร้องเรียนมายังสมาคมฯ ว่า แม้จะลงทะเบียนถูกต้องแล้ว ก็ยังต้องจ่ายค่าส่วยให้กับผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวก วินรถจักรยานยนต์จึงหลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียน เพราะท้ายที่สุดก็ยังต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้ผู้มีอิทธิพลอยู่ดี. – สำนักข่าวไทย