กรุงเทพฯ 16 มิ.ย.-การแก้ปัญหากรุงเทพฯ จะจมน้ำ มีการทำโครงการเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาถาวรอยู่หลายโครงการ เช่น Pipe Jacking, Water Bank และอุโมงค์ระบายน้ำ
พื้นที่เกาะกลางถนนสุขุมวิทซอย107 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง เป็น 1 ใน 14 สถานที่ของโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำด้วยวิธีดันท่อลอด หรือ Pipe Jacking โครงการนี้มีเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบนถนนสายหลัก เช่น ซอยลาซาลถึงซอยแบริ่ง เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำและมักระบายน้ำได้ช้า จากการมีพื้นที่เป็นแอ่งกระทะและเป็นรอยต่อความรับผิดชอบ 2 จังหวัด
Pipe Jacking เป็นการวางท่อโดยใช้วิธีดันท่อ ซึ่งจะมีการก่อสร้างบ่อรับและบ่อดันท่อขนส่งน้ำ เมื่อสร้างแล้วเสร็จ น้ำบนถนนจะไหลลงท่อและบ่อสูบ ผ่านท่อลอด ระบายลงสู่คลองบางนา กทม.มีแผนการก่อสร้างท่อระบายน้ำด้วยวิธีดันท่อหรือ Pipe Jacking ทั้งหมด 14 แห่ง แล้วเสร็จไป 1 แห่ง คือ บริเวณถนนเยาวราชและเจริญกรุง
นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน หรือ Water Bank หลักการคือ การสร้างบ่อที่ใช้กักเก็บน้ำไว้ใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังผิวจราจร และมีกลไกระบายน้ำผ่านท่อลงสู่คลอง มีแผนก่อสร้างอีก 3 แห่ง โดยเสร็จแล้ว 1 แห่ง คือ บ่อที่สร้างติด สน.บางเขน ผอ.เขตบางเขน ยืนยันว่าหลังมีบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วมขังอีก
ส่วนการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ก็ยังคงเดินหน้าต่อ ปัจจุบันมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง แต่กทม.ยังมีแผนสร้างเพิ่มอีก 5 แห่ง ที่ใกล้เสร็จ คือ บึงหนองบอน
รองผู้ว่า กทม.บอกด้วยว่า โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่างๆ ต้องใช้เวลาการก่อสร้าง การแก้ปัญหาระยะสั้นเน้นการระบายน้ำให้รวดเร็ว ทั้งจากเครื่องสูบน้ำก่อนระบายสู่คลองและแม่น้ำ ซึ่งต้องมีการทำระบบช่วยดึงน้ำก่อนถึงแหล่งน้ำด้วย เพราะหลายพื้นที่ ท่ออยู่ต่ำกว่าระดับคลอง
การแก้ปัญหากรุงเทพฯ จะจมน้ำ ยังมีอุปสรรคหลายเรื่อง เช่น การประสานงานของหน่วยงานระหว่างจังหวัด ความไม่เข้าใจของคนในชุมชนบางพื้นที่ ที่ไม่เห็นด้วยต่อการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน หรือ Water Bank และจากปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ดินทรุดปีละ 1-2 เซนติเมตร และสภาพพื้นที่ที่เร่งต่อการที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะ.-สำนักข่าวไทย