กรุงเทพฯ 13 มิ.ย. – หลังประธานรัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ 41 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ผลที่เกิดขึ้นจะมีทิศทางอย่างไร และส่งผลต่อการเมืองแค่ไหน ติดตามจากรายงาน
ทันทีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ตัดสินใจส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส. จำนวน 41 คน จาก 6 พรรคการเมือง ถือครองหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสื่อมวลชน ว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้สมัคร ส.ส.ถือครองหุ้นสื่อ เข้าสู่กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ จากนี้ต้องรอว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ หากรับคำร้องจะต้องดูด้วยว่าจะสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
มุมมองของอดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า กรณีนี้ต่างจากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถือหุ้นจริง แต่ 41 ส.ส. เป็นเพียงการจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการทำธุรกิจสื่อ เป็นการขอตามขั้นตอนหนังสือบริคณห์สนธิ อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่า คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ต้องไม่ถือครองหุ้นใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ซึ่งรวมถึงกรณีนี้ด้วย
หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง และสั่งให้ 41 ส.ส.ยุติการปฏิบัติหน้าที่ จะมีผลต่อการทำงานทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เนื่องจาก ส.ส.ทั้งหมดเป็น ส.ส.ซีกรัฐบาล อาจทำให้การผ่านกฎหมายในสภาเป็นไปด้วยความยากลำบาก
เมื่อพิจารณาเนื้อหาคำร้องของ 41 ส.ส.แล้ว ใกล้เคียงกับที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเคยวินิจฉัยตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ จึงต้องวัดใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างอิงคำตัดสินตามกฎหมาย หรือยึดข้อเท็จจริง เพราะข้อกฎหมายชี้ชัดว่า ทุกรายที่จดทะเบียนมีความผิด แม้ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อจริง
นักวิชาการมองว่า จากนี้ไปจะมีการเล่นเกมการเมืองในสภามากขึ้น ทั้งการนับองค์ประชุม การร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ฝ่ายค้าน ในขณะที่ฝ่ายบริหารขยับตัวลำบาก ทั้งนายกรัฐมนตรีอาจไม่กล้ายุบสภา ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เป็นรอง สุดท้ายอาจทำให้คนเบื่อหน่าย จนการเมืองเข้าสู่วังวนเดิม และอาจเกิดการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา. – สำนักข่าวไทย