อุบลราชธานี 12 มิ.ย. – ในแต่ละปีมีผักตบชวาไหลไปรวมกันที่หน้าเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี หลายพันตัน เกิดปัญหาหลายด้าน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมมือกับชุมชน นำผักตบชวามาผลิตปุ๋ยหมัก ลดปริมาณผักตบชวาในลำน้ำมูล ต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน
ผักตบชวาในลำห้วยตุงลุง ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล เขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ถูกกำจัดตักขึ้นจากลำห้วย ก่อนจะไหลไปรวมกันที่หน้าเขื่อนปากมูล ซึ่งแต่ละปีมีผักตบชวาไหลมารวมกันหน้าเขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม มากถึง 4,200 ตัน เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว สร้างผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน จัดโครงการ “ผักตบชวา สวะที่มีคุณค่า” นำผักตบชวาไปผลิตปุ๋ยหมัก โดยวันนี้นำผักตบชวาจากลำห้วยตุงลุงไปผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เครื่องร่อนปุ๋ยอินทรีย์ของ กฟผ. มาช่วยผลิตปุ๋ยหมัก ที่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม
ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนร่วมโครงการผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวา 2 กลุ่ม ในอำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ปุ๋ยที่ได้ชุมชนนำไปใช้ในการเพาะปลูก ลดต้นทุนการใช้สารเคมี และขายสร้างรายได้ ปีนี้ทั้ง 2 กลุ่ม มีเป้าหมายผลิตปุ๋ยหมัก 120 ตัน โดยผลิตจากผักตบชวา 400 ตัน. – สำนักข่าวไทย