กรุงเทพฯ 12 มิ.ย. – กฟผ.จับมือหน่วยงานภาครัฐ ดึงนวัตกรรมสร้างมูลค่าผักตบชวาแปลงเป็นปุ๋ยหมัก เสริมรายได้ให้ชุมชนรอบเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี
ว่าที่ ร.ต. ไพฑูรย์ จงจินากูล รักษาราชการแทนนายอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ผักตบชวา สวะที่มีคุณค่า” โดยร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 มณฑลทหารบกที่ 22 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการชลประทานอุบลราชธานี กรมชลประทาน หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนปากมูล อุบลราชธานี กรมประมง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร ประชาชนในพื้นที่อำเภอโขงเจียมและอำเภอสิรินธร รวมทั้งมีนายธนภัทร ฉัตรสุวรรณ หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และพนักงาน กฟผ.ร่วมกิจกรรม ณ บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
นายศานิต นิยมาคม ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า โครงการผักตบชวา สวะที่มีคุณค่าได้นำนวัตกรรมการผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่พลิกกลับกอง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เครื่องร่อนปุ๋ยอินทรีย์ของ กฟผ.มาร่วมแก้ไขปัญหาผักตบชวาที่มีปริมาณหนาแน่นในเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ประมาณ 4,200 ตัน/ปี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของน้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและทำให้เสียทัศนียภาพในด้านการท่องเที่ยว โดยนำผักตบชวามาผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง เพื่อสร้างคุณค่าและก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับเพาะปลูก อีกทั้งยังส่งผลให้คุณภาพดินเพาะปลูกในชุมชนดีขึ้น และยังช่วยสร้างรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยหมักเป็นสินค้าของวิสาหกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการผักตบชวาฯ นำแนวทางธุรกิจเพื่อสังคมมาปรับใช้ โดย กฟผ.สนับสนุนเงินลงทุนบางส่วน เครื่องจักร และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาบ้านหัวเห่ว อ.โขงเจียม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานผัง 16 บ้านคำวังยาง อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้ ปี 2562 ชุมชนมีเป้าหมายที่จะนำผักตบชวา 400 ตัน มาทำปุ๋ยหมัก 120 ตัน โดยจะแบ่งปุ๋ยหมักให้สมาชิกตามสัดส่วนการร่วมลงทุนค่ามูลสัตว์ เพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูก 60 ตัน และวิสาหกิจชุมชนนำไปจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์ดินอินทรีย์ 60 ตัน
“กฟผ.มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมพลังงาน เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทยอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าและเขื่อน กฟผ. และ กฟผ. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาปริมาณผักตบชวาในพื้นที่ พร้อมต่อยอดสร้างรายได้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนได้อย่างยั่งยืน” รองโฆษก กฟผ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย