กรุงเทพฯ 12 มิ.ย. – กรมทรัพย์สินทางปัญญากระตุ้นคนไทยใส่ใจจดสิทธิบัตรต่อยอดความเป็นเจ้าของพลังงานทดแทน หวังสร้างความมั่นคงยั่งยืนพลังงานของประเทศ
น.ส.วันเพ็ญ นิโครวนจำรัส รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเปิดงานสัมมนา เรื่อง “การวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” Tech Insight : 1 Renewable Energy Technology Trend Analysis for Sustainable Future โดยเฉพาะการสร้างความรับรู้กระตุ้นให้ผู้ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับพลังงานทดแทนหันมายื่นขอจดสิทธิบัตรความเป็นเจ้าของมากขึ้น โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งอยู่ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) โดยไทยสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันได้ในอนาคต เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ด้วยการสนับสนุนการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศ เพื่อการวิจัยพัฒนาส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้
ทั้งนี้ กรมฯ เห็นว่าเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในรูปของพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นร้อยละ 30 ของการพลังงานทดแทนทั้งหมดจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 18 มาจากการกระตุ้นให้คนไทยหันมาพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องด้านการใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เพราะจากสถิติการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรด้านพลังงานทดแทนในไทยทั้งคนไทยและต่างชาติตั้งแต่ปี 2551 – 2561 มีจำนวน 996 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.6 จากคำขอรับสิทธิบัตรทั่วโลก ทำให้ปัจจุบันมี 59,903 ฉบับ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากคำขอ 996 ฉบับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นคำขอคนไทยกว่า 440 ฉบับ และต่างชาติกว่า 520 ฉบับ ซึ่งพลังงานทดแทนของไทยที่ยื่นจะเน้นไปในกลุ่มชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม โดยในจำนวนนี้พลังงานชีวภาพไทยมีความพร้อม เนื่องจากตัววัตถุดิบของไทยที่มีสินค้าเกษตรและมูนสัตว์ต่าง ๆ มีมาก จึงเชื่อว่าจะทำให้ไทยสามารถสร้างพลังงานทดแทนได้ในระยะยาวและสร้างความมั่นคงของพลังงานของไทยได้ในระยะยาว และเท่าที่ได้ติดตามคนไทยเริ่มให้ความสนใจพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ดังนั้น กรมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกระตุ้นให้คนไทยเกิดความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนให้เพิ่มมากขึ้นกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดย IP IDE Center พร้อมให้บริการคำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมอย่างครบวงจรแก่เอสเอ็มอี เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้ามารับบริการของศูนย์ IP IDE ได้ที่ชั้น 4 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้.-สำนักข่าวไทย