กทม. 7 มิ.ย. – มาตรการคุมเข้มเรื่องคุณภาพที่อยู่อาศัย หรือ LTV ซึ่งธนาคารประเทศไทยประกาศใช้มีผลมาตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจชะลอตัวเพราะมีสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยอดขายอสังหาริมทรัพย์เดือน เม.ย. หลายรายติดลบไม่เป็นไปตามเป้าหมาย .- สำนักข่าวไทย
หลังจากมาตรการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัย(แอลทีวี)ที่แบงก์ชาติออกมามีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 เม.ย.2562 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครมการค้า ก็ทำให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ เดือนเมษายน หลายรายติดลบ หรือยอดขายไม่เป็นไปตาม เป้าหมาย ผู้ประกอบการ เช่น เสนาดีเวลล็อปเมนต์ พฤกษา ต่างระบุว่า มาตรการแอลทีวี ตรงข้ามกับความเป็นจริง คือ คนคนหนึ่งสามารถมีบ้านได้มากกว่า 1 หลัง แต่การคุมสินเชื่อที่จะต้องวางเงินดาวน์มากขึ้น ก็ทำให้ ให้มีผลต่อการตัดสินใจซือที่อยู่อาศัย คือ กู้ได้ยากขึ้น และช่วงเดือนเมษายนหดตัวร้อยละ 18 หลายค่ายประเมินจะทำให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ อาจหดตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 เลยทีเดียว
การคุมสินเชื่อบ้านด้วยแอลทีวี ก็เป็นหนึ่งมาตรการที่คุมสินเชื่อภาคครัวเรือนของไทยที่ขยายตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 และสภาพัฒน์ แถลงล่าสุดว่า ไตรมาส 1/2561 หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2561 ที่หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 78.6% และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย
สำหรับไตรมาส 1 ปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัว 10.1% สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2557 เป็นต้นมา เป็นผลจาก การเร่งก่อหนี้ก่อนการบังคับใช้แอลทีวี ความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น และการส่งเสริมการขาย ที่มีเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ ขณะที่คุณภาพสินเชื่อโดยรวมยังคงทรงตัว แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขยายตัวร้อยละ 9.0 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.75 ต่อสินเชื่อรวม และสัดส่วนร้อยละ 27.8 ต่อ NPLs รวม ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสหนึ่งปี 2559 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์มองว่า แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน โดยมาตรการแอลทีวี อาจทำให้การก่อหนี้ครัวเรือนชะลอตัวลงเพราะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนประมาณ 49.9% ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ในขณะที่ การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ รวมถึงบัตรเครดิตอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
โดยในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้ว่าสถาบันการเงิน ก็อยากเห็นแบงก์ชาติทบทวนเรื่องแอลทีวี อย่างไรก็ตาม นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยังบอกว่าอยู่ระหว่างการประเมินผล จะทบทวนหรือไม่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าสถาบันการเงินเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และเป็นไปตามวัตถุประสงค์..(ต่อ3)
ของ ธปท.ที่ต้องการเห็นการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง เพราะไม่ต้องการเห็นการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน หรือเก็งกำไร
ด้วยปัจจัยที่เกิด ขึ้น ทำให้รัฐบาลออก 2 มาตรการกระตุ้นตลาดอสังหา ทั้ง การลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 2 แสนบาท สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.-31 ธ.ค. 2562 และ กรณี ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่ราคา ไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อที่อยู่อาศัยให้เหลือ 0.01% จากอัตราปกติที่ 2.0% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ ให้เหลือ 0.01% จากอัตราปกติที่ 1.0% ของมูลค่าจดจำนอง ถึง 31 พ.ค.2563
อย่างไร ก็ตาม ผู้ประกอบการอสังหาฯมอง ว่า มาตรการดังกล่าว ไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าส่วนใหญ่ได้ เพราะปัจจุบันราคาบ้านส่วนใหญ่เกิน 1 ล้านบาทแล้ว โดยราคาบ้านหรือคอนโดมิเนียมระดับนี้ มีเพียงประมาณร้อยละ10 ของตลาดเท่านั้น ก็อยากเห็นรัฐบาลใหม่มาขยายการลดค่าธรรมเนียมการโอนครอบคลุมบ้านที่มีราคา2-5 ล้านบาท เพราะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 เพราะอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นเรื่องที่ครอบคลุมธุรกิจต่อเนื่องหลายด้านทั้งวัสดุก่อสร้าง การจ้างงาน หากภาคอสังหาฯมีผลกระทบ ก็จะกระทบภาคอื่นๆไปตามไปด้วย