กทม. 1 มิ.ย.-5 มิถุนายน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การจับขั้วรัฐบาลเริ่มชัดเจน แต่ฝั่งพลังประชารัฐยังเสียงปริ่มน้ำ ทำให้เกิดข้อกังวล อาจส่งผลกับการบริหารประเทศ
เมื่อ 10 เสียงจากพรรคชาติไทยพัฒนา ยอมรับสินสอดพลังประชารัฐ มารวมกับแนวร่วมอีก 15 พรรค ทำให้ขั้วฝั่งพลังประชารัฐ มีเสียงที่แน่นอนแล้ว 150 เสียง ไม่รวม 53 เสียงจากประชาธิปัตย์ และ 51 เสียงจากภูมิใจไทย ที่ไม่ชัดเจน แต่สุดท้ายหากทั้ง 2 พรรคเข้าร่วม จะทำให้พลังประชารัฐมีเสียงรวมเป็น 254 เสียง
ขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ มีเสียงในมือ 246 เสียง ซึ่งทั้งสองขั้ว ห่างกันเพียง 8 เสียง แม้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะพลังประชารัฐ มี 250 เสียงจาก ส.ว. ที่จะทำให้ชนะแบบขาดลอย สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ที่สภาผู้แทนราษฎรต้องเร่งพิจารณา แต่เมื่อเสียงรัฐบาลและฝ่ายค้านใกล้เคียงกัน เปอร์เซ็นต์การตีตก ก็มีสูง
ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน แนะให้ใช้บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ที่เปิดทางให้ ส.ว.เข้าชื่อร้องขอให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ ส.ว.มีส่วนร่วมโหวตเห็นชอบให้งบประมาณรายจ่ายผ่านสภาไปได้ ขณะที่ ส.ว.เสรี สุวรรณภานนท์ ชี้ว่าหากสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ทันตามกำหนด 105 วัน จะถือว่าสภาผู้แทนฯ เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ได้
แต่นักวิชาการ ไม่เห็นด้วยกับการให้ ส.ว.โหวตผ่านงบประมาณประจำปี แม้จะสามารถทำได้ก็ตาม และเป็นไปได้ยากที่จะพิจารณาไม่ทันตามกำหนด แต่อาจจะเป็นไปได้กรณีรัฐบาลตีรวน เพราะเกรงฝ่ายค้านจะตีตกงบประมาณแผ่นดิน
5 มิถุนายนนี้ ไม่ว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นใคร แต่หัวใจสำคัญคือ งบประมาณแผ่นดิน หากเสียงปริ่มน้ำ ร่างงบประมาณถูกคว่ำ อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล.-สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• BIG STORY : “ชวน” ไม่หนักใจทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
• พท.ไม่ได้ข้อสรุปส่งใครชิงนายกฯ
• ส่งหนังสือแจ้งโหวตเลือกนายกฯ 5 มิ.ย.
• “ชวน หลีกภัย” กับเส้นทางการเมืองประธานสภาฯ สมัยที่ 2