ระยอง 29 พ.ค. – GC เดินหน้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี มั่นใจตามแผน 1.3-1.5 แสนล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ปี 2562 GC เดินหน้ากลยุทธ์ตามแผนระยะยาว (Long Term Strategic Execution) ขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะลงทุนประมาณ 130,000-150,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาร่วมทุนโครงการใหม่ ๆ ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังลงทุน 3 โครงการหลักวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท จะเริ่มทยอยผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2563 และจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นปี 2564 ประมาณ 7% เมื่ิอเทียบกับปี 2561 ที่มีประมาณ 515,000 ล้านบาท ส่วนรายได้ปีนี้อาจจะลดลงกว่าปีที่แล้ว เพราะราคาผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ลดต่ำลงจากปัญหาสงครามการค้าและการปิดซ่อมบำรุงบางส่วนของ GC
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงงานรีไซเคิลขยะ 45,000 ตันนั้น เดือนมิถุนายนนี้จะประกาศผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ โดย GC ถือหุ้นร้อยละ 70 วงเงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ 1.5 ล้านตัน คาดว่าจะประกาศความชัดเจนการลงทุนและการเงินภายในกลางปีนี้
“GC มีแผนลงทุนในอีอีซี ลงทุนในต่างประเทศ และลงทุนด้านรีไซเคิล ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นทั้งด้านการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมในระยอง เพื่อให้คนท้องถิ่นได้ประโยชน์ควบคู่กันไป” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
สำหรับ 3 โครงการหลักที่ GC อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนใน Naphtha Cracker ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่บริษัทฯ มีอยู่แล้วและเป็นการต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันและ โพรพิลีน 250,000 ตัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วประมาณ 51% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ธันวาคม 2563 มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท
โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) ดำเนินการโดยบริษัท GC Oxirane จำกัด (GCO) โดย GC ถือหุ้น 100 % เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตโพลีออลส์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 56 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์กรกฎาคม 2563 และโครงการโพลีออลส์ (Polyols) ดำเนินการโดยบริษัท GC Polyols จำกัด (GCP) โดย GC ถือหุ้น 82.1% Sanyo Chemical 14.9 % และ Toyota Tsusho 3% เพื่อผลิตโพลีเอเทอร์โพลีออลส์ (Polyether Polyols) 130,000 ตันต่อปี โพลิเมอร์โพลีออลส์ (Polymer Polyols) 30,000 ตันต่อปี และพรีมิกซ์ (Premix) 20,000 ตันต่อปี เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีนไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลียูรีเทน (Polyurethane) ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 60 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์สิงหาคม 2563 โดยทั้ง 2 โครงการ PO/Polyols มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์จาก Polyols สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สมรรถนะสูง (Performance Chemicals) ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Construction) กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็คทรอนิกส์ (Electrical & Electronics : E&E) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automation) กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน (Household) กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า (Footwear) และกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ใน New S-Curve เพื่อตอบสนองต่อแนวทางส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่ลงทุนในพื้นที่อีอีซี
โครงการ Polyols เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพันธมิตรที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะด้าน Feedstock หรือวัตถุดิบจาก GC ด้านเทคโนโลยีทันสมัยจาก Sanyo Chemical และการสนับสนุนด้านเครือข่ายทางการตลาดจาก Toyota Tsusho สองผู้ร่วมทุนจากประเทศญี่ปุ่น และทีมวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างนวัตกรรมที่พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้า.-สำนักข่าวไทย