กทม. 28 พ.ค. – นับจากปี 2508 ประเทศไทยต้องเผชิญภัยความมั่นคงครั้งใหญ่ คือ การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่การต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน 3 ทศวรรษ จบลงด้วยนโยบายการเมืองนำการทหารของ พล.อ.เปรม
อนุสรณ์สถานประชาชน-วีรชนอีสานใต้ ที่บ้านโคกเขา ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ ถูกสร้างขึ้น เพื่อรำลึกถึงทหารป่า ผู้เสียชีวิตจากการสู้รบในนามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
วันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม 2508 คือวันที่ พคท. ใช้อาวุธโจมตีกองกำลังรัฐบาลไทย ภาคอีสาน เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ พคท. เคลื่อนไหวมากที่สุด
ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองของคอมมิวนิสต์ ปลุกระดมประชาชนเป็นแนวร่วม ทำให้กองกำลังรัฐบาลปราบปรามอย่างยากลำบาก
พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ อดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม ผู้เขียนหนังสือจากใต้สู่อีสาน อัตชีวประวัติของ พล.อ.เปรม ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวไทย ถึงบรรยากาศการต่อสู้ช่วงนั้น แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่ พล.อ.เปรม ไปเป็นผู้บัญชาการแม่ทัพที่ 2 ในปี 2516 ซึ่งดูแลพื้นที่อีสาน
เมื่อ พล.อ.เปรม เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และต่อมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก นโยบายนี้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังในทุกกองทัพภาคทั่วประเทศ
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงเดือนเดียว ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/2523 ใช้การเมืองนำการทหาร นิรโทษกรรมให้ทหารป่าคอมมิวนิสต์วางปืน มาร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย
การวางอาวุธของพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถือเป็นผลสำเร็จของนโยบาย 66/2523 ที่เริ่มมาตั้งแต่ พล.อ.เปรม เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 และประกาศเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ในปีแรกที่ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้สิ้นสุดการต่อสู้ในปี 2532 นับเป็นการยุติการต่อสู้ระหว่างคนไทยด้วยกันที่ต่างอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งยืดเยื้อยาวนานถึง 3 ทศวรรษ. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง