พระนครศรีอยุธยา 27 พ.ค.-ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา แจงตัดหัวเสาตะลุง เพนียดคล้องช้าง เพื่ออนุรักษ์แบบดั้งเดิม ยืนยันซ่อมแซมตามหลักฐานที่พบ หลังชาวบ้านรวมตัวประท้วง
กรณีที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้บูรณะซ่อมแซมเพนียด คล้องช้าง ม.3 ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งชาวบ้านพบว่า การบูรณะซ่อมแซมครั้งนี้ มีการตัดหัวเสาตะลุงที่อยู่ด้านนอกเพนียด หรือที่เรียกว่าปีกกาออกทั้งหมด ทำให้สภาพเพนียดคล้องช้างเปลี่ยนไป แลดูไม่สวยงาม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงการตัดหัวเสาตะลุงครั้งนี้
นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เดินทางไปที่เพนียดคล้องช้าง ตรวจสอบความคืบหน้าการบูรณะซ่อมแซม และชี้แจงสาเหตุของการตัดหัวเสาตะลุง การบูรณะใช้งบกว่า 30 ล้านบาท และยึดถือหลักฐานที่พบเป็นภาพถ่ายจากชาวต่างชาติที่เข้ามาไทย ก่อนรัชกาลที่ 5 โดยเห็นว่าด้านนอกของเพนียดคล้องช้างเสาตะลุงไม่มีหัว จึงซ่อมแซมตามหลักฐานที่พบ ส่วนที่ผ่านมาการบูรณะซ่อมแซมมาต่อเนื่อง 3 ครั้ง ทางผู้รับเหมาสร้างตามหลักฐาน คือ เสาตะลุงที่หลงเหลืออยู่เดิมมีหัวมัณท์ หรือ หัวบัว จึงซ่อมแซมทั้งด้านนอกด้านใน และซ่อมต่อเนื่อง ไม่ได้ยึดภาพเหมือนการซ่อมครั้งนี้ ซึ่งกรมศิลปากรต้องการย้อนไปถึงสภาพเดิมที่เคยมี ยืนยันว่าทำตามหลักฐานที่พบ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนการที่ชาวบ้านคัดค้าน เป็นเรื่องที่ทำได้ และเป็นเรื่องดี อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ทางกรมศิลปากรอธิบายชี้แจง หลังจากที่นางสาวสุกัญญาชี้แจงนานกว่า 20 นาที ท่ามกลางเสียงตะโกนของชาวบ้านที่ไม่รับฟัง เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่ากรมศิลปากรพยายามที่จะทำลายความรู้สึกของชาวบ้าน จึงเรียกร้องให้ซ่อมแซมให้เสาตะลุงมีหัวเหมือนเดิม อีกทั้งเห็นว่าหากทางกรมศิลปากรไม่แก้ไข ก็จะทำการร้องเรียนไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สตง. ปปช. และร้องไปยังนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเรียกร้องให้ย้ายผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ออกไปด้วย
นายสันติ ขันธนิกร ตัวแทนชาวบ้านรอบเพนียด ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านดร.จิระพันธ์ พิมพ์พันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด นายมนัส ทรัพย์มีชัย ตัวแทนมูลนิธิพระคชบาล ยื่นไปยังจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดร.จิระพันธ์ กล่าวว่า การซ่อมกี่ครั้ง ชาวบ้านจดจำแต่ภาพของเสาตะลุงที่มีหัว ที่สำคัญการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและการที่ยูเนสโก้ ยกย่องเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2535 ทุกหน่วยเห็นว่าเสาตะลุงมีหัว วันนี้ จะดัดแปลงแก้ไขย้อนไปอีก คงไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ตนจะสอบถามไปยังกรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้เข้ามาดูแล
นายนิวัฒน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เปิดเผยพบว่า มีความพยายามที่จะทำเป็นเสาที่มีหัวบัวด้านใน แต่ไม่ชัดเจน อีกทั้งด้านนอกยังตัดหัวบัวออกไป ทั้งที่ยอมรับว่าของเก่าก็มีไม่ควรที่จะตัด ทั้งนี้ยังมีความเชื่อว่าเสาโดยรอบนั้น เป็นตัวแทนเทพที่ปกปักรักษาเพนียดคล้องช้างด้วย ในฐานะชมรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการรักษาและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดี จะนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ระงับซ่อมบำรุงก่อน ทั้งนี้การซ่อมอะไรก็ตามต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมอันดี และความรู้สึกของคนในชุมชน ยิ่งในรัชกาลปัจจุบัน พระองค์เน้นต่อยอด ซ่อม เสริมที่ไม่ได้มุ่งทำลายให้เสียหาย ต่อมาชาวบ้านพากันไปชุมนุมชูป้ายคัดค้านและจุดธูปเพื่อขอขมาอภัยอีกทั้งสาปแช่งผู้ที่เปลี่ยนแปลงสภาพของเพนียดคล้องช้างและตัดหัวเสาตะลุง พร้อมทั้งเรียกร้องให้กรมศิลปากรแก้ไขให้เหมือนเดิม ขณะที่ผู้สื่อข่าวพบว่าเสาตะลุงหลายต้นจำนวนมาก เป็นเสาเก่าที่ได้นำไปทำให้มีขนาดเล็กลง ด้วยการปลอกเปลือกไม้ กลึงและทาสี นำไปลงหลุม เพื่อดูเป็นของใหม่ อีกทั้งบางต้นยังได้กลับเอาหัวเสาลงไป ทำการเทปูนกลบ ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นการลบหลู่เสาตะลุงอย่างมาก ทางอุทยานฯไม่ระบุว่างบ 35 ล้านบาทนั้น ได้ใช้ไม้ใหม่จำนวนเท่าใด หรือนำเสาเก่ามาตัดหัวทำใหม่จำนวนเท่าใด อีกทั้งยังซ่อมแซมไม่ตรงกับความเป็นจริงหลายจุด ซึ่งชาวบ้านจะทำการร้องเรียนเพื่อตรวจสอบต่อไป.-สำนักข่าวไทย