กรุงเทพฯ 26 พ.ค.-อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น จากสภาพอากาศ ส่งผลกระทบแหล่งปะการังไทย และแนวปะการังบางแห่ง นักวิจัยไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวเพื่อแก้ปัญหา ติดตามจากรายงาน
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นในปีนี้ ซึ่งยังส่งผลกระทบไปถึงอุณหภูมิของน้ำทะเลก็สูงขึ้นตามไปด้วย
อาจารย์ประจำกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น แม้จะสูงขึ้นเล็กน้อยเพียง 1 องศาเซลเซียส สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอย่างปะการัง ที่มีความอ่อนแอต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยจากการติดตามแหล่งปะการังไทย 50 จุด พบว่าบางจุดมีปัญหาการฟอกขาวร้อยละ 25 แต่ยังไม่รุนแรง หรือส่งผลให้ปะการังตาย
ปะการังฝั่งอ่าวไทยเกิดผลกระทบมากกว่า ด้วยปัจจัยคุกคามจากมลพิษ ขยะ และน้ำเสีย ทำให้อัตราการฟื้นตัวช้า และทำให้ตัวอ่อนปะการังไม่สามารถเจริญพันธุ์ได้ ต้องอาศัยการเพาะขยายพันธุ์ช่วยเร่งฟื้นฟูสภาพแนวปะการัง
ทีมวิจัยยังพบว่าปะการังไทยอยู่ในเขตร้อน ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิบ่อยครั้ง ทำให้ปะการังบางชนิดปรับตัวและฟื้นตัวได้เร็วกว่าแนวปะการังอื่นของโลก
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติได้ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมตรวจวัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเล ซึ่งแนวโน้มปะการังฟอกขาวในปีนี้อาจไม่รุนแรงเท่ากับปี 2016 แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง หากอุณหภูมิยังสูงขึ้นต่อเนื่องอีก มีโอกาสสูงที่ปะการัง สัตว์ทะเล และสิ่งมีชีวิตหลายล้านชนิดจะหายไป
ภาวะโลกร้อนทำให้โลกสูญเสียแนวปะการังไปแล้วร้อยละ 50 โดยเฉพาะเกรตแบร์ริเออร์รีฟ แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก เสียหายแล้วกว่าครึ่ง คาดการณ์ว่าในอีก 36 ปี ปะการังทั่วโลกอาจเหลือเพียงร้อยละ 10 จากปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาใช้อนุรักษ์แนวปะการังไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้ ให้เป็นแหล่งอาศัยและกำเนิดสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างยั่งยืน. – สำนักข่าวไทย.-สำนักข่าวไทย