สำนักข่าวไทย 21 ส.ค..- “นพ.เจตน์” เผยต้นสัปดาห์ต้องหารือกันภายในหาข้อยุติเรื่องให้ส.ว.มีส่วนร่วมเลือกนายกฯ ว่าจะมีสิทธิเสนอชื่อหรือไม่ กรณีที่ไม่สามารถเลือกตามบัญชีพรรคการเมืองได้ ยืนยันไม่อยากออกเป็นมติกดดันกรธ. แต่ตามเจตนารมณ์ก่อนตั้งคำถามคือการย้ายเวทีจากสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นวุฒิสภา คือต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการเสนอชื่อ
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. กล่าวถึงการพิจารณาคำถามพ่วงประชามติ ที่มีปัญหาเรื่องการให้ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อพรรคการเมืองได้ มีขอบข่ายถึงขั้นเสนอชื่อได้ด้วยหรือไม่ ว่า เมื่อยังมีความเห็นที่ต่างกัน กรรมาธิการฯ ซึ่งมีตัวแทนของกรรมาธิการทุกคณะในสนช.อยู่แล้วจึงจะนัดหารือกันอีกครั้งภายในวันอังคารนี้ เพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจนว่าควรตีความอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้เห็นว่าควรตีความอย่างกว้าง คือเมื่อให้ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ควรมีส่วนตั้งแต่กระบวนการแรกคือการเสนอชื่อด้วย ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่ตอนตั้งคำถามพ่วงประชามติแล้ว ว่าเจตนารมณ์เป็นแบบนี้ แต่การจะเขียนเป็นคำถามหากระบุลงไปละเอียดเช่นนี้ จะกลายเป็นมากกว่า 1 ประเด็น และเกรงว่าประชาชนจะสับสน
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ทางกรรมาธิการฯ จะหารือกันและหากจะต้องขอมติที่ประชุมสนช. จะต้องพูดคุยกันในคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าสมควรบรรจุเป็นญัตติเพื่อขอมติหรือไม่ แต่ในเบื้องต้นทางกรรมาธิการฯเห็นว่าไม่ควรเป็นมติ เพราะหากเป็นมติของสนช.จะเป็นการกดดันกรธ. ซึ่งยังมีความเห็นต่างอยู่ ซึ่งทางสนช.อยากให้ความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันก่อนที่จะเขียนในบทเฉพาะกาล
“ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง ถ้าเป็นความขัดแย้ง เราต้องยืนยัน ดึงดัน แต่นี่เราพยายามที่จะพูดคุยเพื่อหาข้อยุติให้ได้ในแนวทางเดียวกัน แต่เราไม่อยากออกเป็นมติของที่ประชุมสนช.เพราะเกรงจะไปกดดันกรธ. แต่ตอนนั้นมีการพูดกันตอนเขียนคำถามพ่วงฯว่าอยากให้เขียนให้ชัดไปเลย ก็เกรงว่าจะเป็นการถามมากกว่า 1 ประเด็น เลยต้องเรียนให้สั้นกระชับ แต่มันคือการย้ายเวทีสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกนายกฯมาที่รัฐสภา เราก็ต้องย้ายมาทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มเสนอชื่อ”นพ.เจตน์ กล่าว
นพ.เจตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังมีเวลาในการหารือกัน ซึ่งอาจจะต้องพบกันกับกรธ.มากกว่า 1-2 ครั้ง แต่จะต้องหาข้อยุติให้ได้ก่อนวันที่ 5 ก.ย. เพื่อให้กรธ.มีเวลาในการเขียนก่อนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตามกำหนดเวลา คือ 7 ก.ย. .-สำนักข่าวไทย