กรุงเทพฯ 26 พ.ค. – กระทรวงคมนาคมยืนยันผลสำเร็จพัฒนาระบบราง 5 ปีที่ผ่านมา เชื่อรัฐบาลใหม่รับไม้ต่อหลายโครงการ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของระบบขนส่งรางไทย” จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยยืนยันว่ารัฐบาลปัจจุบันขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรางหลายด้านในช่วง 5 ที่ผ่านมา หลังจากไทยหยุดการพัฒนาระบบรางมานาน เนื่องจากการลงทุนยกเครื่องระบบรางต้องมีการลงทุนมหาศาล
นายไพรินทร์ กล่าวว่า การพัฒนาระบบรางที่เห็นได้ชัดเจนและมีผลต่อการยกระดับการขนส่งทางรางของประเทศที่จะดีต่อการลดต้นขนส่ง หรือโลจิสติกส์ของประเทศ เริ่มจากรถไฟทางคู่ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีรถไฟ 4,508 กิโลเมตร มีรถไฟทางคู่เพียง 824 กิโลเมตร และรัฐบาลได้ทยอยเปิดประกวดราคาก่อสร้างรถไฟทางคู่ไปแล้ว ซึ่งในอนาคตมีเป้าหมายพัฒนารถไฟทางคู่ทุกภูมิภาคถึงชายแดนเชื่อมกับประเทศในภูมิภาค คิดเป็นรถไฟทางคู่ 14 เส้นทาง 4,783 กิโลเมตร ในปี 2579
สำหรับรถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 608 กิโลเมตร เริ่มงานระยะที่ 1 ไปแล้ว การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อเปลี่ยนฮวงจุ้ยของกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่สมบูรณ์ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะมาสานต่ออีกหลายโครงการ การพัฒนารถไฟฟ้า แก้ปัญหาการพัฒนารถไฟฟ้า แก้ปัญหาจราจรภายในเมือง ตามแผนแม่บทระยะที่ 11 เส้นทาง จะมีระยะทางรวม 496 กิโลเมตร 309 สถานี หลังจากนี้ทุก 6 เดือน ประเทศไทยจะมีการเปิดส่วนต่อขยายและรถไฟฟ้าสีใหม่ ต่อเนื่อง โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงภาคตะวันออก ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถึงจังหวัดระยอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบรางมีรายละเอียดสำคัญต้องทำต่อ เช่น การเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดความสวยงาม การเชื่อมต่อระบบขนส่งอื่น และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ขณะที่ด้านอุตสาหกรรม หากไทยมีการพัฒนาระบบรางเต็มรูปแบบสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตตู้โบกี้รถไฟ เพื่อใช้งานในประเทศและป้อนแก่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วย.-สำนักข่าวไทย