17 พ.ค.-ดีเดย์! 1 ก.ค. อายัดต่อทะเบียนรถ ค้างจ่ายค่าปรับจราจร ด้านการท่าเรือพร้อมลุยลงทุนแหลมฉบังเฟส3 แจงคัดเลือกผู้ลงทุนโปร่งใส
ก่อนที่จะไปดูข่าวลงทุน ใครเดินทางอยู่ก็แวะปั๊มเติมเต็มถัง เตรียมพร้อมสำหรับการไปทำบุญใหญ่ วันวิสาขบูชา พรุ่งนี้ เพราะราคาน้ำมันจะขยับขึ้น 40 สตางค์ทั้งกลุ่มเบนซิน กลุ่มดีเซล อย่างไรก็ตาม บี 10 และบี 20 ราคาถูกว่าบี7 1 บาทและ 5 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเป็นไปตามตลาดโลกที่ล่าสุดน้ำมันดิบดูไบใกล้แตะ 72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะความตึงเครียดในตะวันออกกลางซาอุดีอาระเบียโจมตีทางอากาศใส่ฐานที่ตั้งกบฏฮูติ ตอบโต้ที่กบฏฮูติออกมาประกาศอ้างตัวเป็นผู้โจมตีท่อขนส่งน้ำมันของซาอุดีอาระเบียด้วยโดรนในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องใบสั่งจราจรที่ก่อนหน้านี้หลายคนไม่ยอมเสียค่าปรับ นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ออกมาย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้มาตรการอายัดต่อทะเบียนภาษีสำหรับรถที่โดนใบสั่งจากการทำผิดกฎจราจรเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะช่วยให้ผู้ขับรถบนถนนรักษากฎจราจรไม่ประพฤติผิดกฎหมายและในส่วนของกรมการขนส่งทางบกจะเป็นหน่วยปฏิบัติตรงรับชำระต่อภาษี ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อม โดยวันที่ 24 พฤษภาคมจะทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูลใบสั่งกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ขั้นตอน คือ เมื่อมีประชาชนขอต่อทะเบียนภาษีและเมื่อตรวจสอบพบว่ามีประวัติได้รับใบสั่ง ในส่วนนี้กรมฯ ได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายสามารถรับชำระเบี้ยปรับใบสั่งจากประชาชนได้เลย เมื่อชำระค่าใบสั่งแล้ว กรมฯ จะต่อทะเบียนภาษีให้ตามปกติ ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนไม่เสียเวลาต้องนำใบสั่งไปชำระที่สถานีตำรวจในพื้นที่
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ท่าเรือ F วงเงินลงทุนกว่า 8.4 หมื่นล้านบาทเป็นหนึ่งในโครงสร้างพิ้นฐานในโครงการอีอีซี ที่มุ่งหวังพัฒนาลดต้นทุนการส่งออก โดยการลงทุนเป็นแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นเสนอ 2 เจ้า คือ กิจการร่วมค้า NCP และกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งกลุ่มนี้มี ปตท.และกัลฟ์ เข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มNCP ถูกตัดสิทธิ์ ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งได้มีการไปฟ้องศาลปกครอง โดยเห็นว่าการพิจารณาไม่เป็นธรรม และศาลปกครองกลางก็พิจารณาไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารระบบแล้ว ในวันนี้ เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตั้งโต๊ะแถลงระบุการพิจารณาเป็นไปอย่างโปร่งใส มีตัวแทนจากคณะกรรมการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นเข้าประชุม โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจาณาแล้วว่า ในข้อเสนอซองที่ 2 ของกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP มีการลงนาม “สัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่” ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) ซึ่งสัญญาดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญ เพราะเป็นเอกสารที่แสดงว่า “สมาชิกของกิจการร่วมค้าจะร่วมกันและแทนกันรับผิดอย่างหนี้ร่วม” จึงมีผลอย่างมาก ถ้าหากเกิดคดีฟ้องร้องระหว่างการท่าเรือฯ และเอกชนในอนาคต โครงการนี้มีความสำคัญต่อประเทศ และการท่าเรือฯ ก็ต้องร่วมลงทุนด้วยถึง 5 หมื่นล้านบาท การพิจารณาต้องรอบคอบคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันนี้ ฝ่ายกฎหมายของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน จะดำเนินการพิจารณากรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ออกจากการประมูล ถ้าฝ่ายกฎหมายของ EEC เห็นว่าควรตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ก็จะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี รับทราบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ต่อไป รวมถึงจะดำเนินการประมูลตามขั้นตอนต่อไปด้วย แต่หากฝ่ายกฎหมายของ EEC เห็นว่าไม่ควรตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ต้องทบทวนกระบวนการใหม่ทั้งหมด โดยจะกลับไปพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ในซองที่ 2 ซองที่ 3 ด้านเทคนิค และซองที่ 4 ด้านผลประโยชน์ตอนแทนตามลำดับ ซึ่งก็จะทำให้ระยะเวลาพิจารณาผลประมูลต้องยืดออกไปอีก จากเดิมจะกำหนดเสร็จสิ้นใน 1-2 เดือนนี้
ทางกลุ่ม ปตท.นอกจากจะเสนอร่วมลงทุนโครงการแหลมฉบังเฟส3 แล้ว ยังมีโครงการร่วมทุนเสนอลงทุนท่าเรือฯ มาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดรู้ผลและลงนามสัญญาร่วมทุนกับ กนอ.ได้เดือน พ.ค.นี้ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอ ปตท.ระบุรอผลการพิจารณา อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนทั้งกลุ่ม ปตท.เป็นไปตามแผนงานปีนี้ 4.5 แสนล้านบาท พร้อมกับตั้งมือรับผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่กระทบทั่วโลกและไทย โดยในส่วนเม็ดพลาสติกกระจายตลาดมากที่สุด ส่วนการลงทุนโครงการใดๆ ก็รอบคอบรัดกุมและประหยัด
เรื่องการลงทุนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อรักษาการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2562 หลังจากวางกรอบลงทุนทั้งปีของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง มูลค่า 333,441 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมปี 2562 (ต.ค.61-เม.ย.62) 88,010 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม โดยปัญหาเศรษฐกิจโลกสงครมการค้า ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะที่ภาคเอกชนยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง จึงต้องอาศัยการเบิกจ่ายของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เป็นตัวนำในการเบิกจ่ายเงินลงทุน เพราะหากไม่ทำอะไร จีดีพีของประเทศจะชะลอตัวไปมากกว่านี้ ซึ่งภาครัฐมองว่าหากเร่งรัดหาทางประคับประคองเศรษฐกิจยังเชื่อมั่นจีดีพียังขยายตัวร้อยละ 3-4 โดยมีรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย 5 แห่ง อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การบินไทย ไปรษณีย์ไทย จึงหาแนวทางเร่งรัดและยังขอให้รัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำโครงการลงทุนที่มีอยู่มาลงทุนเบื้องต้น เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวม.-สำนักข่าวไทย