รร.พลูแมน 16 พ.ค. – รัฐบาลเร่งผลักดันไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์ หนุนสตาร์ทอัพ ยึดเออีซีเป็นฐาน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม ผู้ประกอบการและวิสาหกิจเริ่มต้น (Inno Space National Startup Platform ) หรือไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อตั้งเป็นองค์กรระดับชาติขึ้นมาทำหน้าที่ สร้างธุรกิจรุ่นใหม่เป็นศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพให้กับประเทศ ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หลังจากภาคเอกชนพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพคืบหน้าไปมากแล้ว เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ปตท. เอสซีจี ทรู เพื่อให้ไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์เป็นศูนย์รวมพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะภาคเกษตร ไบโอเทค ผ่านแรงจูงใจด้านภาษี และมาตรการต่าง ๆ ที่เตรียมเอาไว้รองรับ เพื่อสร้างธุรกิจรุ่นใหม่ให้กับประเทศ
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลหวังผลักดันให้เกิดการตื่นตัวในการส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง โดยไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์แห่งนี้ต้องมีหน้าที่หลัก คือ 1.ผลักดันมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย เข้ามาตั้ง จากเดิมไม่มีเงินทุนรองรับ ขาดทุนทำวิจัย หรือทำวิจัยแล้วไม่รู้ว่าจะขายสินค้าได้อย่างไร จึงต้องนำมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เข้ามาอยู่ในไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์ แห่งนี้ 2. เสาหลักด้านความรู้ทางการเงิน สถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์พอร์ต จะดึงเข้ามาอยู่ด้วยกัน 3. เสาหลักด้านตลาดทุน เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ยังมีความเสี่ยง เพื่อสร้างโอกาสเกิดขึ้นของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4. เสาหลักภาคเอกชน เพื่อร่วมทุนให้กับบริษัทเกิดใหม่ หรือเป็นโค้ชในการสร้างสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้น อนาคตจะได้ขยายเครือข่ายลงทุนร่วมกันเพิ่มเติม
“เมื่อเชื่อมโยงทุกเสาหลักและตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าด้วยกัน จากนั้นจะเกิดการวิจัยอีกจำนวนมาก จะกลายเป็นธุรกิจใหม่ มีพี่เลี้ยงภาคเอกชนขนาดใหญ่ คอยดูแล หรือมีทุนสนับสนุน เพื่อกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้ไซเบอร์พอร์ตฮ่องกงพร้อมเข้ามาช่วยเหลือก่อตั้งองค์กรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และได้มอบหมายให้นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ช่วยเป็นหัวขบวนในการตั้งองค์กรและตั้งคณะกรรมการ โดยมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐและเอกชนร่วมสร้างไซเบอร์พอร์ต นักวิจัยจะมีทางออกในการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” นายสมคิด กล่าว
สำหรับการตั้งไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์ เบื้องต้นใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท คาดว่าในช่วงต้นเดือนมิถุนายนจะเริ่มจับมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ คัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเข้ามาอยู่ประมาณ 30-40 ราย จากนั้นจะเชื่อมโยงกับสตาร์ทอัพและบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้กับสตาร์ทอัพเมืองไทย.-สำนักข่าวไทย