จุฬาลงกรณ์ 2 พ.ค. – เวทีจุฬาฯ เสวนา กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ ชี้ให้สังคมตั้งสติกัญชา ไม่ได้รักษาทุกโรค อย่าเชื่ออย่างสุดโต่ง ขณะที่สภากาชาดไทย เตรียมร่วมกับจิตอาสา สกัดสารกัญชาช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีกัญชาทางการแพทย์ใช้ ทั้งปลอดภัยและมีคุณภาพ และให้กระจายยาตามรพ.ชุมชน
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิบการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเวทีจุฬาลงกรณ์ เสวนา เรื่อง กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ? ว่า ขณะนี้สังคมกำลังถกเถียงเรื่องกัญชา สามารถรักษาทุกโรคได้จริงหรือไม่ และกฎหมายเอื้อพร้อมสำหรับประโยชน์ของกัญชาจริงหรือเปล่า ซึ่งข้อมูลขณะนี้ ทำให้ทราบว่า กัญชาไม่ได้รักษาทุกโรค และการเปิดเสรี หรือข้อกฎหมายนั้น ได้รับการรับรองเพียง 35 ประเทศ ไม่ใช่ทุกประเทศจะสามารถให้กัญชาได้ และการใช้ต้องคำนึงหลายสิ่งทั้งปัญหาสังคมภายในประเทศ และในระดับนานาชาติ ว่าอยู่ภายใต้กรอบหรืออนุสัญญาหรือไม่ ในทางการแพทย์ สารสกัดจากัญชา ที่ได้ประโยชน์แน่ชัด คือ CBD แต่THC ที่มีอยู่ในกัญชาก็ทำให้เกิดการมึนเมา และติดได้ การใช้กัญชา แม้จะนำมาเฉพาะประโยชน์ก็มีโทษได้เช่นกัน แม้แต่ยาพาราเซตามอล คนที่แพ้ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ฉะนั้นได้หลงเชื่ออย่างสุดโต่ง และต้องระมัดระวังเรื่องของกระแสแบบนี้ ย่อมนำมาซึ่งเรื่องการค้า และการหลอกลวง เป้าหมายที่สำคัญที่สุดที่ควรจะเป็น คือทำอย่างไรให้คนไข้เข้าถึงยา และการใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย
ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอดีตสภากาชาดไทย ได้มีตำรับยาเพื่อผู้ป่วย ขณะนี้ทางสภากาชาดไทย ได้หารือร่วมอย. เพื่อทำให้กัญชา จากใต้ดินมาบนดิน โดยตั้งเป้าว่าภายใน 3 เดือน หลังจากสิ้นสุดนิรโทษกัญชา 19 พ.ค. นี้ จะผลิตกัญชาให้กับผู้ป่วยได้ใช้ อย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับเหล่าจิตอาสา ที่นำกัญชามาสกัดในโรงงานของสภากาชาดไทย ที่จังหวัดสระบุรี ทั้งนี้ เพื่อให้กัญชาที่ได้มีความปลอดภัย และมีการราคาที่เหมาะสม โดยจะกระจายตามยารพ.ชุมชน ซึ่งมีสภาเกษตรกร เป็นผู้คู่เพื่อกระจายยาให้กับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม .-สำนักข่าวไทย