กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – กนป.มอบ กฟผ.ซื้อปาล์มอีก 2 แสนตัน ผลิตไฟฟ้า โดยซื้อราคาตลาดและต้นทุนจะผลักเข้าสู่ค่าไฟฟ้าอัตโนติ (เอฟที) ขณะที่บางจากฯ – ปตท.พร้อมเปิดปั๊มบี 20, บี 10 ขณะที่ ธพ.รอการตอบรับจากค่ายรถยนต์ก่อนประกาศมาตรฐานบี 10 เร็วสุดเดือนนี้
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือยกระดับราคาปาล์ม โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพิ่มเติมอีก 200,000 ตัน จากเดิมซื้อไปแล้ว 160,000 ตัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง โดย กนป.จะนำเรื่องนี้เสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติในวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม
“กฟผ.จะดำเนินการซื้อน้ำมันปาล์มดิบในสตอกทันที 100,000 ตัน เพื่อช่วยกระตุกราคาขึ้น โดยมีเป้าหมายจะผลักดันราคาผลปาล์มดิบเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3 บาทต่อกิโลกรัม” นายศิริ กล่าว
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า นโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากราคาผลผลิตตกต่ำจากสภาพอากาศร้อนจัดส่งผลปาล์มสุกเร็วเป็นผลให้ผลผลิตปาล์มดิบออกสู่ตลาดมากจนล้นกำลังสกัดจากโรงสกัดที่มีอยู่ ซึ่งส่งผลให้ราคาผลปาล์มหน้าลานเทมีราคาตกลง โดยกำชับให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำงานเป็นทีม ประสานงานใกล้ชิด เร่งลดปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกิน ทั้งมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ นอกจากใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ก็ต้องการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้มากที่สุด รวมทั้งการเข้มงวดตรวจสอบสตอกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือให้เป็นผลรูปธรรมโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กนป.ให้ กฟผ.เร่งรับซื้อซีพีโอ 200,000 ตัน แบ่งเป็นการรับซื้อเดือนพฤษภาคมนี้ 100,000 ตัน และเดือนมิถุนายนอีก 100,000 ตัน โดยรับซื้อราคาตลาด เพื่อหวังลดปริมาณซีพีโอและดึงราคาผลปาล์มที่ตกต่ำขึ้นมาเร็วสุด อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการรับซื้อครั้งนี้ให้เป็นงบประมาณของ กฟผ.ที่ให้นำมาคำนวณรวมเป็นต้นทุนค่าเอฟที ไม่ใช่รูปแบบเดิมที่รับซื้อ 160,000 ตัน ที่ไม่กระทบค่าไฟฟ้าของภาคประชาชน เพราะเงินส่วนหนึ่งมาจากเงินกองทุนส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ 525 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นงบฯ 829 ล้านบาทรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) โดยเรื่องนี้ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้พิจารณาต้นทุนว่าจะกระทบค่าไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด โดยเบื้องต้นต้นทุนการขนส่งและสตอกซีพีโอนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 90 สตางค์/กิโลกรัม
นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในวันนี้ได้เข้าพบนางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อขอรับทราบนโยบายเกี่ยวกับไบโอดีเซลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยทางบางจากฯ พร้อมช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นกังวลเกี่ยวกับจำนวนถังน้ำมันที่จะรองรับ เพราะจะมีน้ำมันไบโอดีเซลถึง 4 เกรด ได้แก่ บี7, บี10, บี20 และพรีเมี่ยม โดยเดือนเมษายนบางจากฯ ร่วมช่วยเหลือโดยเปิดปั๊มจำหน่วยบี 20 ไปแล้วถึง 120 แห่ง ซึ่งพบว่าทางผู้ใช้กระบะและรถบรรทุกตอบรับเป็นอย่างดี หากกระทรวงพลังงานยืดระยะเวลาเพิ่มส่วนต่างระหว่างบี 20 และบี 7 ในอัตรา 5 บาท/ลิตร ต่อไปจากกำหนดเดิมจะสิ้นสุดสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ก็คาดว่าจะทำให้ช่วยเหลือชาวสวนปาล์มได้ดีขึ้น
“ขณะนี้ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงราคาสูง หากดึงดูดให้เกิดการใช้บี 20 ด้วยราคาส่วนต่างกับบี 7 ในอัตรา 5 บาท/ลิตรต่อไปก็จะดึงดูดให้เกิดการใช้บี 20 มากขึ้นต่อเนื่องและส่งผลให้ช่วยดูดซับซีพีโอ เป็นผลดีต่อเกษตร ส่วนทางบางจากฯ จะขายผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลประเภทไหนบ้าง ก็คงต้องดูนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนและดูทิศทางความต้องการของลูกค้าแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันบางจากฯ มีปั๊มประมาณ 1,200 แห่งทั่วประเทศและครองยอดขายดีเซลเป็นอันดับ 2 ของประเทศที่ 256 ล้านลิตร/เดือน” นายสมชัย กล่าว
ด้านนางสาวนันธิกา กล่าวว่า กรมธุรกิจพลังงานพร้อมประกาศมาตรฐานน้ำมันทางเลือกบี 10 ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ในขณะนี้เพียงรอคำตอบรับอย่างเป็นทางการของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่พร้อมจะใช้บี 10 หลังจากสมาคมยานยนต์ญี่ปุ่น (จามา) ให้การตอบรับว่ารถยนต์สามารถใช้บี 10 ได้ โดยทั้งค่ายรถอเมริกันและญี่ปุ่นได้ให้คำตอบอย่างไม่เป็นทางการมาก่อนหน้านี้ว่ารถยนต์ใช้บี 10 ได้ ซึ่งในส่วนของผู้ค้าน้ำมันก็คงจะต้องเลือกว่าปั๊มใดจะจำหน่ายน้ำมันประเภทใดบ้างให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า หากรถยนต์เพิ่มการใช้บี 10 บี 20 ได้ก็จะดูดซับปาล์มได้มากขึ้น จากที่ความต้องการน้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านลิตร/วัน
นายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีโออาร์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนว่าจำนวนปั๊มที่มี 1,700 แห่งนั้น จะวางกลยุทธ์การจำหน่ายกลุ่มดีเซลที่จะมีทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์เป็นอย่างไร โดยพร้อมที่จะเปิดขายบี 20, บี10 ซึ่งปัจจุบันมีปั๊มเปิดขายบี 20 ไปแล้วถึง 30 แห่ง และในการดูดซับปาล์มขณะนี้มีการรับซื้อบี 100 มาเก็บสำรองไว้รวมกว่า 100 ล้านลิตร โดยหากค่ายรถยนต์ให้การรับรองการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมของบี 100 ในสัดส่วนที่สูงขึ้นจะทำให้ผู้ใช้รถเกิดความมั่นใจและมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมของบี 100 ในปริมาณสูงขึ้นด้วย.-สำนักข่าวไทย