กรุงเทพฯ 1 พ.ค. – นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่การปรับอัตราเงินเฟ้อแม้หลายหน่วยงาน
เช่นกระทรวงการคลังจะมีการปรับเป้าเงินเฟ้อแล้วก็ตาม
โดยยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 0.7 – 1.7 มีค่ากลางอยู่ที่ ร้อยละ 1.2
บนพื้นฐานจีดีพีขยายตัว ร้อยละ 3.5 – 4.5 เนื่องจากปีที่แล้วราคาพลังงานอยู่ในฐานที่สูง
ขณะที่ปีนี้ยังคงต้องติดตาม
ผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนแห้งแล้ง และมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา
ทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดลดลง
ส่วนค่าโดยสารที่มีการปรับขึ้นไปแล้วนั้นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับเงินเฟ้อในเดือนถัดไปมากนัก
ซึ่งยังมีหลายปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)
เดือนเมษายน 2562 เท่ากับ 102.82 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.23
เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.44% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.
ที่ผ่านมา โดยสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงานยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้
โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสด สูงขึ้น ร้อยละ 3.30
ตามการสูงขึ้นของผักสดที่ยังได้รับผลกระทบเข้าสู่ตลาดน้อยลง
ส่วนกลุ่มพลังงานสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
หลังจากที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า โดยสูงขึ้นร้อยละ 2.33 ตามภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ลดอัตรากำลังการผลิต
เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว ร้อยละ 0.61
ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือน เม.ย. 2562
ที่ปรับเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่
2 โดยดัชนีราคาผู้ผลิตปรับสูงขึ้นจากหมวดผลผลิตเกษตรกรรม (ข้าวเปลือก ยางพารา
ข้าวโพด สุกร) และปิโตรเลียม
ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้นจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นสำคัญ
สำหรับการเคลื่อนไหวของระดับราคาสินค้าในเดือนนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.20 โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้นถึงร้อยละ
12.74 อาทิ พริกสด ต้นหอม ถั่วฝักยาว
เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง
ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาทำให้พืชผักเสียหาย
ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งและเนื้อสัตว์เป็ดไก่และสัตว์น้ำสูงขึ้นในอัตราเท่ากันที่ร้อยละ
3.3 ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์ เนื้อสุกร ปลาทู
เครื่องประกอบอาหารสูงขึ้นร้อยละ 3.39 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น ร้อยละ
0.66 อาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้น ร้อยละ 0.75 นอกบ้าน สูงขึ้น ร้อยละ 1.80
ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม
สูงขึ้น ร้อยละ 0.67 ตามการสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิงร้อยละ 2.72
โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นดีเซลราคาลดลง
ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้นร้อยละ 1.91 (ค่าโดยสารรถขสมก./บขส. ค่ารถรับส่งนักเรียน
ค่าโดยสารเครื่องบิน ) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 1.06
. – สำนักข่าวไทย