กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – รมว.เกษตรฯ เปิดแผนพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นำร่อง 6 พืชสำคัญ เป้าหมายเกษตรแปลงใหญ่ ลดต้นทุนเกษตรกร เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงได้จัดทำแผนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการทำเกษตรกรรมร่วมมือกับหน่วยงานสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตรจากภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นนำงานวิจัยจาก Hokkaido University ไปขยายผลสู่การปฏิบัติมาช่วย ประสานความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหารือกับหน่วยงานรัฐมหาวิทยาลัยเกษตรอันฮุย มหาวิทยาลัยซูโจว และภาคเอกชนที่มีความชำนาญด้านเกษตรอัจฉริยะ
ล่าสุดได้จัดทำแปลงเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิตนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในแปลงเรียนรู้ของพืช 6 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรดในพื้นที่แปลงใหญ่ โดยมีพื้นที่ทดสอบรูปแบบละ 10 -20 ไร่ต่อชนิดพืช รวมถึงการทำโรงเรือนมะเขือเทศโดยใช้ IoT และ Sensors ทางการเกษตร ตรวจวัดสภาพดิน น้ำ การเจริญเติบโตของพืช เพื่อนำมาทดสอบใช้ในแปลงเกษตรกรอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรสามารถมาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลในแปลงของตนเองได้
นายกฤษฎา กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ตลอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำเกษตรอัจฉริยะ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยระหว่างผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และ Smart Farmer อีกด้วย นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ การจัดการฐานข้อมูล (Big Data) ระบบน้ำอัจฉริยะ ระบบจ่ายน้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ทางการเกษตร ระบบตรวจความต้องการอาหารและพืช ระบบตรวจสภาพแวดล้อม ระบบเครื่องดักจับแมลง ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ แอพพลิเคชั่นบริการด้านการเกษตร อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร และ Plant Factory system รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่ แทรกเตอร์ต้นกำลังซึ่งมีระบบควบคุมพวงมาลัยอัตโนมัติ หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช เครื่องเก็บเกี่ยวและเครื่องนวดที่มีระบบบันทึกข้อมูลเพื่อจัดทำแผนการผลิต เป็นต้น
“มีเป้าหมายนำเกษตรอัจฉริยะมาทำในโครงการแปลงใหญ่ โดยเอกชนร่วมลงทุนนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยี มี Smart Farmers และ Young Smart Farmers ดูแลแปลง ซึ่งจะสามารถลดการใช้แรงงานคน ใช้ปุ๋ยตามความเหมาะสมของค่าดิน ตลอดจนเก็บผลผลิตสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งเมื่อผลผลิตต่อไร่มากขึ้นและคุณภาพผลผลิตดีขึ้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร เป็นลักษณะการทำเกษตรแบบ ทำน้อย ได้มาก” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย