สำนักข่าวไทย 24 ส.ค.-รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ยอมรับเอาผิดเจ้าของอนาคอนด้ายาก เหตุกฏหมายไทยไม่เอื้อ ประสานสัตวแพทย์ผู้ผ่าตัดงูแล้ว ไม่เปิดเผยที่มาเพราะเป็นการละเมิดสิทธิ
นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงการเผยแพร่ภาพสัตวแพทย์รักษางูอนาคอนด้าและมีคำถามว่ามีการขออนุญาตนำเข้า และครอบครองชนิดพันธุ์สัตว์ป่าในบัญขีไซเตสหรือไม่ เนื่องจากมีทั้งชนิดที่อยู่ในบัญชี 1และบัญชี 2ซึ่งกำหนดห้ามการค้าขาย ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยได้หรือการขอเพาะเลี้ยงในสวนสัตว์ ว่าก่อนอื่นต้องยอมรับว่างูอนาคอนด้าไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย แต่จัดอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าที่ยังไม่ถึงกับสูญพันธุ์จึงอนุญาตให้ค้าในเชิงพาณิชย์หรือนำเข้าได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งงูอนาคอนด้าตัวนี้อาจนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ถูกต้องก็ได้ ซึ่งยอมรับว่าตรวจสอบได้ยากเพราะผู้นำเข้ามาจะนำไปจำหน่ายต่อหรือเพาะพันธุ์อย่างไร เป็นการยากจะไปตรวจสอบต้นตอที่มา หลายกรณีมักจะอ้างว่าซื้อต่อมาจากพ่อค้า
“คนที่ครอบครองหรือพ่อค้า คนพวกนี้รู้จุดอ่อนของกฎหมาย ต่อให้ผิด ไม่มีหลักฐาน กรมก็ไม่มีสิทธิ์ยึดสัตว์ของกลาง จับหรือปรับเพราะอยู่นอกเหนือกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าของไทย” รองอธิบดีกรมอุทยาน กล่าว
อย่างไรก็ตามหลังมีข่าวออกไปได้ติดต่อไปยังสัตวแพทย์ที่ทำการผ่าตัดงูก็ไม่ได้รับความร่วมมือเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิ จึงเร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหาผู้ครอบครอบงูตัวนี้ ว่ามีการนำเข้าอย่างถูกต้องหรือไม่หรือไปซื้อต่อมาจากใคร หากได้มาอย่างไม่ถูกต้องจะมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 รวมถึงให้ไล่ย้อนกลับไปหาข้อมูล ผู้ทำเรื่องนำเข้างูชนิดนี้ในไทย ส่วนใหญ่เป็นเอกชน เริ่มมีครั้งแรกตั้งแต่ปี 2543 จำนวน 4-5 ตัว ในปี 2547 มีผู้ขออนุญาตเป็นขององค์การสวนสัตว์ นำเข้า 17 ตัว ซึ่งสามารถเลี้ยงดูได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี และในปี 2549 อีกประมาณ 50 ราย ซึ่งเป็นเอกชนทำเรื่องมาเพียงรายเดียว กำลังให้เจ้าหน้าที่สืบหาข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ เอกชนเพื่อตรวจสอบว่ายังเลี้ยงดูได้ดี ถูกต้อง รัดกุม หรือปล่อยสัตว์ส่งต่อไปยังที่ใด เพราะหลังข่าวแพร่ออกไปมีประชาชนเริ่มหวาดกลัวว่าจะงูอนาคอนด้าจะหลุดในธรรมชาติ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าจากการติดตามข่าวมาตลอดหลายสิบปียังไม่มีการพบ หรือรายงานข้อมูลว่าพบงูชนิดนี้ในผืนป่าธรรมชาติไทยซึ่งงูชนิดนี้ลักษณะนิสัยจะเหมือนกับงูเหลือม งูหลามที่พบในไทย เพียงแต่จะมีลักษณะตัวใหญ่ สีเข้มคล้ำกว่า ตัวโตสุดเส้นผ่าศูนย์กลางจะใหญ่กว่า 30 เซนติเมตร หากดูจากจำนวนที่นำเข้ามา หากมีการเพาะพันธุ์ซึ่งจะออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 20-40 ตัว คาดว่าน่าจะมีงูอนาคอนด้าในไทยไม่ต่ำกว่า 100 ตัวแล้ว
นายอดิศร กล่าวด้วยว่า ล่าสุดกรมอุทยานฯเร่งเสนอแก้กฎหมายฉบับใหม่ เพื่อให้คุ้มครองและมีบทลงโทษตามกฎหมายกับผู้นำเข้าสัตว์ป่าต่างประเทศที่อยู่ในการควบคุม บัญชี 1และ2 ของไซเตส โดยเฉพาะสัตว์มีพิษทั้งหลาย เช่น แมงมุมพิษแม่หม้ายสีน้ำตาล ขณะนี้เสนอผ่านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเตรียมนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. คาดว่าอย่างช้าที่สุด จะประกาศใช้ภายในกลางปีหน้า.-สำนักข่าวไทย