ฉะเชิงเทรา 6 พ.ค.-กรมอุทยานฯ ระดมสัตวแพทย์รักษา “น้องตุลา” ลูกช้างป่าพลัดหลงซึ่งดูแลที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จ.ฉะเชิงเทรา โดยลูกช้างป่วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส โรคร้ายแรงที่พบได้บ่อยในลูกช้าง ล่าสุดอาการทรงตัว
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าวว่า ทีมสัตวแพทย์ของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับสัตวแพทย์กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่าและสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ยังคงร่วมกันรักษาและดูแลลูกช้างป่า “น้องตุลา” ที่มีอาการป่วยจากโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้างอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้อาการของ “น้องตุลา” ทรงตัว สามารถปัสสาวะได้ วานนี้ถ่ายเหลว 1 ครั้ง ส่วนภาวะท้องที่อืดมีแก๊ส พบว่า แก๊สลดลงไปมาก ไม่พบอาการลิ้นบวม โดยลิ้นมีสีชมพู ให้ยารักษาการติดเชื้อระบบทางเดินอาหารติดต่อกัน 5 วัน ให้กินเกลือแร่และน้ำสะอาดเป็นช่วงๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ขณะนี้ยังสามารถกินนมได้และมีความอยากกินนม นอกจากนั้นพบว่า มีอาการขาหลังขวาเจ็บ อาจเกิดจากการลุกนั่งผิดจังหวะ ผิดท่า อาจจะมีกล้ามเนื้อหรือเอ็นอักเสบ ซึ่งเอกซเรย์แล้ว แต่ยังไม่ได้ภาพถ่ายที่เห็นความผิดปกติชัดเจน จะเอกซเรย์อีกครั้งในวันนี้
นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า จากการพยากรณ์โรค (Prognosis) อยู่ในเกณฑ์ poor ถึง grave (จากมี 5 เกรดได้แก่ Good, Fair, Guard, Poor และ Grave ไล่เรียงจากดีที่สุดมาจนถึงแย่ที่สุดตามลำดับ) เฝ้าระวังภาวะช็อคที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา พร้อมย้ำว่า ทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล และเจ้าหน้าที่จะติดตามอาการใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงและดูแลรักษาอย่างเต็มที่ที่สุด

สำหรับโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (Elephant Endotheliotropic Herpesvirus, EEHV) เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบเลือดของช้าง โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายผนังหลอดเลือดเป็นหลัก สำหรับอาการจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ช้างจะมีอาการซึม อ่อนแรง มีไข้ มีการบวมน้ำที่ส่วนหัว งวง คอ ขา ท้อง เนื่องจากผนังหลอดเลือดถูกทำลายทำให้ของเหลวไหลออกนอกเส้นเลือด เชื้อบางชนิดจะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารด้วย ทำให้ช้างมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด โรค EEHV มีความรุนแรงมากในช้างอายุต่ำกว่า 15 ปี พบอัตราการตายสูงถึง 85% ลูกช้างอาจตายได้ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง หลังจากเริ่มแสดงอาการ เนื่องจากภาวะหัวใจและอวัยวะภายในล้มเหลว.-สำนักข่าวไทย