นนทบุรี 21 เม.ย. – กรมการค้าต่างประเทศจับมือมาเลเซียจัดมหกรรมการค้าชายแดนใต้ นำสินค้าจากผู้ประกอบการไทยและมาเลเซียมาจัดแสดง คาดจับคู่ธุรกิจซื้อขายทันทีไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานจังหวัดนราธิวาสและสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย รวมถึงหน่วยงานราชการของประเทศมาเลเซีย จัดงานมหกรรมการค้าชายแดนใต้ ระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2562 ณ สนามกีฬามหาราช อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ได้มีโอกาสทำการค้าและการลงทุนกับผู้ประกอบการชายแดนมาเลเซีย ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียขยายตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในการจัดงานครั้งนี้ได้จำหน่ายสินค้าคุณภาพของทั้ง 2 ประเทศ โดยเป็นคูหาฝ่ายไทย 80 คูหา มีสินค้าจากผู้ประกอบการภาคใต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้มากสุด และยังมีสินค้าจากภาคเหนือของไทยมาร่วมจำหน่ายด้วย และที่เหลือเป็นสินค้าจากผู้ประกอบการมาเลเซีย 40 คูหา รวม 120 คูหา ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพและความงาม แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เครื่องใช้ภายในบ้าน มั่นใจว่าจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจทันทีไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท และภายใน 1 ปี ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการจัดงานจะมีการประชุมร่วมภาครัฐ-เอกชนระดับท้องถิ่นไทย-มาเลเซีย เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า เพื่อช่วยผลักดันให้การค้ามีความคล่องตัวและยังจะสร้างความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงการจัดคลินิกการค้าชายแดน เพื่อให้คำแนะนำผู้ประกอบการ การให้ความรู้ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใน Form D เพื่อส่งออกไปยังมาเลเซีย และการเชิญผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการบุกเจาะตลาดมาเลเซียมาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ
สำหรับจังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 2 จังหวัดทางภาคใต้ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่บริเวณชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงสู่ประเทศมาเลเซีย และกระจายความเติบโตทางเศรษฐกิจไปยัง 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยจังหวัดนราธิวาส มีมูลค่าการค้าชายแดนไม่ต่ำกว่าปีละ 3,600 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากจังหวัดสงขลาที่มีมูลค่ากว่า 570,000 ล้านบาท โดยจังหวัดนราธิวาสยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อรัฐกลันตันของมาเลเซีย มีจุดผ่านแดนถาวรถึง 3 แห่ง จึงเอื้อต่อการค้าชายแดน และยังมีสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย รวมทั้งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว การค้าและบริการ โดยอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ เกษตรแปรรูป สินค้า บริการฮาลาล และโลจิสติกส์ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกกวนตันของมาเลเซียออกสู่ทะเลจีนใต้ได้อีกด้วย. – สำนักข่าวไทย