กรุงเทพฯ 19 เม.ย.-ก.คลัง ชี้แจงกรณีสังคมออนไลน์แชร์ข่าวภาษีเงินฝาก ย้ำส่วนใหญ่บัญชีเงินฝากคนไทยไม่อยู่ในเกณฑ์จ่ายภาษี ขณะที่ 22 เม.ย. ค่าโดยสารรถเมล์-บขส.และรถร่วมปรับขึ้น
สำหรับประกาศกรมสรรพากร เรื่องดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ทางธนาคารพาณิชย์และกระทรวงการคลังหารือกันมา 2 ปีแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีของบรรดาเศรษฐีที่มีบัญชีออมทรัพย์ทุกบัญชีรวมกัน มีดอกเบี้ยมากกว่า 2 หมื่นบาท/ปี ซึ่งปกติแล้ว จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 แต่ที่ผ่านมามีธนาคารขนาดเล็กส่วนใหญ่จะแนะนำให้ลูกค้าปิดบัญชี หากผลตอบแทนดอกเบี้ยเกือบถึง 20,000 บาท ประกาศฉบับนี้จึงต้องให้แบงก์รายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า แต่ละคนมีเงินฝากรวมและดอกเบี้ยเป็นอย่างไร โดยผู้ที่อยู่ในข่ายเสียภาษีหรือมีดอกเบี้ยมากกว่า 2 หมื่นบาทต่อปี ต้องมียอดเงินฝากถึง 4 ล้านบาท ในขณะที่เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ หรือ 99% ของประชากร มีเงินฝากไม่ถึง 1 ล้านบาทต่อบัญชี จึงเห็นว่ารายย่อยแทบจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่เจ้าของบัญชีก็ต้องไปลงนามกับแบงก์ที่เปิดบัญชี เพื่อให้ยื่นเปิดเผยข้อมูลกับกรมสรรพากร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว รายได้ของดอกเบี้ยเงินฝากแม้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี จะถูกนำไปรวมกับรายได้ประจำปีเพื่อคำนวณการเสียภาษีโดยอัตโนมัติ ดังนั้น หากไม่เปิดเผยข้อมูล แทนที่จะประหยัดภาษีร้อยละ 15 อาจต้องเสียภาษีเพิ่ม และค่าปรับเมื่อนำไปรวมรายได้ และจ่ายภาษีตามฐานกลับต้องเสียภาษีมากขึ้น และหากเราไม่เอาดอกเบี้ยเงินฝาก (ที่ไม่ได้หัก ณ ที่จ่าย) ไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อยื่นภาษี ก็จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย อาจโดนเบี้ยปรับเพิ่มได้
หลังจากนี้สถาบันเงินจะต้องไปหาแนวทางเพื่อจัดสงข้อมูลดอกเบี้ยของบัญชีออมทรัพย์ของลูกค้ามาให้กรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะต้องส่งข้อมูลให้กรมฯ ปีละ 2 ครั้ง คือ เดือน พ.ค.และเดือน พ.ย. ทุกปี เพื่อให้กรมฯ นำมาตรวจสอบรายได้จากดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มาคำนวณภาษี และเสียภาษีในช่วงสิ้นปี โดยปัจจุบันกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีรายได้จากดอกเบี้ย ปีละประมาณ 1 พันล้านบาท การดำเนินการในส่วนนี้ถือเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้สามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้อีก 1 เท่าตัว ในขณะที่สมาคมธนาคารไทย จะมีการหารือกันวันที่ 23 เม.ย.ถึงประกาศดังกล่าว โดยจะต้องมีการออกแบบฟอร์มของสมาคมเพื่อให้ลูกค้ามาลงนามให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งสมาคมธนาคารไทยพยายามจะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าลงนามยินยอมที่ธนาคารเพียงแห่งเดียว และ ลิงค์ข้อมูลถึงทุกธนาคาร แต่ต้องใช้เวลาในการวางระบบดังกล่าวอีกระยะหนึ่ง
ส่วนวันจันทร์นี้ 22 เม.ย.นี้ จะเป็นวันดีเดย์ขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด โดย นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีและรักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยืนยันว่าปรับขึ้นแน่นอน แม้ในวันนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลไต่สวน เพื่อคุ้มครองชั่วคราวเป็นการฉุกเฉิน และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอน หรือระงับการขึ้นค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางทั้งระบบตามมติคณะกรรมการกรมการขนส่งทางบกกลางมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 61 โดยนายศรีสุวรรณมองว่า ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการประกอบกิจการขณะนี้ไม่ได้ปรับราคาขึ้น จึงไม่น่าจะเหตุนำมาอ้างปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร อีกทั้งขณะนี้กำลังจะมีรัฐบาลใหม่จึงควรให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่พิจารณา
สำหรับการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถโดยสารทั้งรถใหม่ รถเก่า รถเมล์ ขสมก. และรถร่วม จะปรับขึ้น ตั้งแต่ 1-7 บาท มีผลวันที่ 22 เมษายนนี้ ก็เป็นไปตาม เช่น รถร้อนปรับจาก 6.50 บาทเป็น 8 บาท และกรณีผู้โดยสารใช้ทางด่วนให้กำหนดค่าทางด่วนเพิ่มจากค่าโดยสารปกติ 2 บาทต่อคนต่อเที่ยวและรถบริการตลอดคืน ให้กำหนดค่าธรรมเนียมบริการตลอดคืน เพิ่มจากค่าโดยสารปกติ 1.50 บาทต่อคนต่อเที่ยว ส่วนรถร่วมบริการฯ ขสมก. ปรับขึ้น 1 บาท จาก 9 บาท เป็น 10 บาท ขณะที่รถ บขส.และรถร่วมให้ปรับราคาขึ้นไม่เกิน 10% 40 กม.แรก จะคิด 53 สตางค์ จากเดิม 49 สตางค์ต่อ กม. ส่วนเกิน 40 กม.ถึง 100 กม.ปรับจาก 44 สตางค์เป็น 48 สตางค์ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย