กรุงเทพฯ 18 เม.ย. – “กฤษฎา” โวยปลัดเกษตรฯ-สศก.อย่าใช้ตัวเลขลอย ๆ นั่งประเมินสภาวะเกษตร ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรให้แม่นยำและครอบคลุม นำข้อมูลมาใช้ส่งเสริมเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต ไม่ปล่อยล้นตลาดขายขาดทุนซ้ำซาก
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการปลัดกระทรวงเกษตรฯ และเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เกี่ยวกับเผยแพร่ข้อมูลหรือคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตรหรือเผยแพร่เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขทางการเกษตรที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจหรือปริมาณผลผลิตและราคาผลผลิต ขอให้คำนึงถึงความแม่นยำของข้อมูลชนิด ประเภทการทำเกษตรกรรมแต่ละชนิด จำนวนพื้นที่เกษตรกรรมหรือจำนวนเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกรต่าง ๆ ต้องเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง โดยให้ตรวจสอบก่อนว่ามีที่มาอย่างไร ประการสำคัญหากเป็นข้อมูลหรือสถิติที่หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ รวบรวมไว้ต้องสอบทานให้เป็นข้อมูลเดียวกัน เพื่อไม่ให้ผู้รับข่าวสารหรือรับรายงานไม่เชื่อถือหรือก่อให้เกิดความสับสนและกล่าวหาว่าหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ บกพร่อง เพราะเป็นหน่วยราชการสังกัดเดียวตัวเลขยังไม่ตรงกัน เป็นต้น ข้อมูลที่แม่นยำมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อทั้งหน่วยงานใน กระทรวงเกษตรฯ และองค์กรต่าง ๆ
รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวว่า กรณีวิเคราะห์ข้อมูลหรือคาดการณ์ว่าราคาผลผลิตหรือสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรในปัจจุบันและอนาคต เช่น จะเกิดภาวะขาดแคลน ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ สินค้าล้นตลาดหรือตลาดต้องการสินค้าเกษตรใด ให้ สศก.ระบุด้วยว่าทำอย่างไรกับการคาดการณ์หรือข้อมูลดังกล่าว ได้แก่ มีข้อเสนออย่างไรต่อหน่วยปฎิบัติใช้ส่งเสริมการผลิตหรือหน่วยที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาแล้ว ไม่ควรรายงานหรือวิเคราะห์ออกมาลอย ๆ แล้วไม่แจ้งผู้เกี่ยวข้องให้รับไปดำเนินการ
“ต้องวางระบบข้อมูลภาคเกษตรทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องการผลิตภาคการเกษตรของประเทศ ที่สำคัญคือต้องรู้จำนวนพื้นที่ทำการเกษตรแต่ละชนิด ในทุกฤดูกาล โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ยาง ปาล์มน้ำมัน ยังเป็นปัญหาอย่างทุกวันนี้ ที่หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ยังมีข้อมูลไม่ตรงกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีถามย้ำในที่ประชุม ครม. เรื่องตัวเลขที่ไม่ตรงกันจะยึดของหน่วยงานใด จากนี้ สศก.และหน่วยงานเกี่ยวข้องเมื่อประเมินสภาวะการผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศหากเกิดภาวะภัยแล้งต้องตอบได้ว่า ฤดูกาลถัดไปเกษตรกรไทย ไม่ควรปลูกอะไร และต้องทำเกษตรกรรมใดที่ตลาดต้องการด้วย รวมทั้งประสานกับหน่วยงานทั้งระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ปรับเปลี่ยนทำเกษตร จะทำให้เกษตรกรมีศักยภาพในการแข่งขันของตลาดและรู้เท่าทันสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาการจัดการผลผลิตภาคเกษตรไม่สามารถทำแผนระยะยาวและวางรากฐานภาคเกษตรได้ สาเหตุหนึ่งมาจากขาดข้อมูลไม่แม่นยำ แล้วต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเท่านั้น” นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ พยากรณ์ และรวบรวมสถิติด้านเศรษฐกิจการเกษตรควรมีเครื่องมือและวิธีการดำเนินการที่ทำให้ได้ข้อมูลแม่นยำในการปรับกระบวนการทำเกษตรกรรมแบบครบวงจร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วางไว้นั้น ต้องมีแบบจำลองอุปสงค์-อุปทาน ร่วมกับการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ (Area Based) สศก.ทั่วประเทศมีอยู่ในระดับเขต 12 เขต ซึ่งสามารถร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการให้เจ้าหน้าเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัดช่วยรวบรวมข้อมูลภาคสนามมาประกอบด้วย หากการพยากรณ์อุปสงค์-อุปทานคลาดเคลื่อนจะทำให้การส่งเสริม การกำหนดชนิดของการทำเกษตรกรรม รวมถึงจำนวนพื้นที่ผลิต (โควตาเกษตรกรรม) รวมถึงการหาตลาดรองรับผิดพลาดไปหมด เช่น ปี 2559 ซึ่งผลผลิตข้าวออกมามากกว่าที่พยากรณ์ไว้ เนื่องจากวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นหลัก ประเมินพื้นที่ปลูกน้อยกว่าที่เกษตรกรปลูกจริง ส่งผลให้เกิดปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนปรับสมดุลการผลิตข้าว โดยจัดทำโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเพื่อลดการทำนาปรัง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว นอกจากนี้ แบบจำลองอุปสงค์-อุปทานจะทำเฉพาะการทำเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ต้องครอบคลุมทั้งหมดเช่น หากจะรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์การผลิตข้าว ต้องควบคู่ไปกับข้าวโพดและพืชอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากการลดหรือเพิ่มขึ้นอุปสงค์-อุปทานของพืชชนิดใดชนิดหนึ่งจะส่งผลถึงพืชอื่นด้วย
“จากการศึกษาการทำโครงการร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และภาคเอกชนนั้น ทางภาคเอกชนยังไม่มั่นใจข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งบางครั้งหน่วยวิเคราะห์กับหน่วยส่งเสริมการผลิตไม่ตรงกัน ภาคเอกชนจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลภาคสนาม เพื่อใช้วางแผนต่างจากสหรัฐอเมริกาที่เกษตรกรและภาคเอกชนเชื่อมั่นข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ มาก ดังนั้น การปฎิรูปการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจทางการเกษตรให้มีความแม่นยำ จึงเป็นความจำเป็นต่อนโยบายปรับกระบวนการทำเกษตรกรรมแบบครบวงจร” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย