นนทบุรี 18 เม.ย. – พาณิชย์ระบุการระบายปาล์มน้ำมันสู่การผลิตพลังงานเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำลังลงไปสำรวจพื้นที่ปลูกปาล์ม เพื่อดูตัวเลขผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงหลังจากนี้ ว่าจะออกมามากน้อยแค่ไหน เพราะช่วงมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมามีผลผลิตออกมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 30 เป็นเหตุให้ราคาผลปาล์มไม่ขยับขึ้น ทั้งที่ภาครัฐออกมาตรการระบายน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในพลังงานไฟฟ้าแล้ว และขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังดูดซับผลผลิตไปทำเป็นพลังงาน โดยนำไปทำเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 จากการติดตามเบื้องต้นพบปริมาณการใช้ B20 เพิ่มขึ้น จากเดิมเดือนละ 10 ล้านลิตร ปัจจุบันเพิ่มเป็นเดือนละ 20 ลิตรแล้ว แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายของกระทรวงพลังงาน
ทั้งนี้ ผลผลิตปาล์มที่ได้จะต้องนำไปสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบและจะนำใช้ 3 ส่วนหลัก ทั้งการบริโภค เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป และพลังงาน ซึ่งการบริโภคและการใช้ในอุตสาหกรรมไม่สามารถเพิ่มการใช้ได้แล้ว จะเหลือเพียงทางเลือกเดียว คือ การนำไปใช้เป็นพลังงาน ซึ่งประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ ก็ปรับตัวมาทำพลังงานเช่นเดียวกัน ส่วนการนำไปทำเป็นพลังงานไฟฟ้านั้น ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะต้นทุนสูงอาจจะกระทบกับผู้บริโภค รวมทั้งการส่งออกก็ทำไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งได้ ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังเร่งผลักดันให้มีการใช้น้ำมัน B7 ไปสู่ B10 และ B20 ที่มีการขยายปั๊มน้ำมันให้สามารถเติมได้มากขึ้น รวมทั้งผู้ผลิตรถหลายรายที่ผลิตรถรุ่นใหม่ ๆ ก็ปรับให้รองรับการใช้ B20 ได้แล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของเกษตรกรได้พยายามช่วยเหลือตัวเอง รวมตัวผลิตน้ำมัน B100 ออกมาใช้เอง ซึ่งสามารถทำได้ เพราะไม่ได้ผลิตออกจำหน่าย แต่ต้องผลิตให้ได้มาตรฐานด้วย
อย่างไรก็ตาม หากการประเมินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากการลงพื้นที่จริงผลผลิตปาล์มอาจจะลดลงในช่วงเดือนพฤษภาคม หลังจากผลผลิตออกมาจำนวนมากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกปาล์มไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับมีการกลับมาปลูกในพื้นที่เดิมที่เปลี่ยนไปปลูกยางพาราแทนและผลผลิตมาโตในปีนี้ จึงไม่ได้รวมอยู่ในการคาดการณ์ตอนแรก ประกอบการอากาศร้อนปาล์มสุกเร็วขึ้นมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย