นนทบุรี 16 เม.ย. – อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุหลังแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ส่งผลสถาบันจัดอันดับโลกประเมินไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญาดีขึ้น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ผลจากการที่กรมฯ ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ทั้งด้านส่งเสริม คุ้มครอง การป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรองรับยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 หรือ 4IR ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั่วโลก ได้แก่ World Economic Forum ( WEF) International Institute for Management Development (IMD) และ The Global Innovation Index (GII) ประเมินไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญาดีขึ้น
ทั้งนี้ ปี 2561 WEF จัดอันดับ 140 ประเทศทั่วโลกให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 38 จากเดิมอันดับที่ 40 เมื่อปี 2560 และเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยมีตัวชี้วัดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาดีขึ้นทั้ง 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1.Intellectual property protection อยู่ในอันดับ 99 จากเดิมอันดับ 106 ดีขึ้น 7 อันดับ 2.คำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของคนไทยในต่างประเทศต่อประชากรหนึ่งล้านคน อยู่ในอันดับ 68 จากเดิมอันดับ 76 ดีขึ้น 8 อันดับ และ 3.ตัวชี้วัดการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของคนไทยในต่างประเทศต่อประชากรหนึ่งล้านคน อยู่ในอันดับ 67 จากเดิมอันดับ 74 ดีขึ้น 7 อันดับ
ขณะที่ IMD กำหนดให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวชี้วัดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ปี 2561 ตัวชี้วัดเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่มีพัฒนาการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ การส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิบัตรของคนไทย รวม 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1.Patent Applications อันดับดีขึ้นถึง 13 อันดับ จากอันดับ 52 มาเป็นอันดับ 39 2.Patent applications per capita จากอันดับที่ 60 มาเป็นอันดับที่ 55 และ 3.Number of patents in force จากอันดับ 59 มาเป็นอันดับ 56 ส่วนตัวชี้วัด Patent Grants to resident มีอันดับคงที่อยู่อันดับ 47
นอกจากนี้ การจัดอันดับความสามารถด้านนวัตกรรม หรือ GII ในปี 2561 ไทยได้รับการปรับอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับที่ 51 มาเป็นอันดับที่ 44 จาก 126 ประเทศทั่วโลก โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ระบุว่าไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านนวัตกรรม โดยผลจากการจัดอันดับที่ดีขึ้นมาจากการแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นมาตรฐานสากล ทั้งกฎหมายเครื่องหมายการค้ารองรับการเข้าเป็นพิธีสารมาดริด กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการบางประเภทให้ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ ตามสนธิสัญญามาร์ราเกช และกฎหมายสิทธิบัตรลดขั้นตอนและระยะเวลาการจดสิทธิบัตรให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ เพื่อป้องกันและปราบปราม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปี 2561 กรมฯ ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร ซึ่งเป็นเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม 3,818 คำขอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่รับจด 3,080 คำขอ โดยสิทธิบัตรกลุ่มสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ปิโตรเคมี ไฟฟ้า และเภสัชภัณฑ์ มีแนวโน้มรับจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย