กทม. 12 เม.ย.-คับข่าวมีของ พาไปดูผลงานนักวิจัย ม.มหิดล กับโปรแกรมระบุอัตลักษณ์และจดจำบุคคลโดยใช้รูปแบบการเดิน ซึ่งใช้งานได้โดยไม่จำกัดเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมของการเดิน นำไปปรับใช้กับกล้องวงจรปิดและสามารถป้องกันการก่ออาชญากรรมได้
อาจารย์คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.มหิดล สาธิตท่าทางพฤติกรรมการเดิน หนึ่งในท่าที่ใช้เป็นโมเดลในการพัฒนาโปรแกรมการระบุอัตลักษณ์บุคคล โดยใช้รูปแบบการเดิน ผ่านกล้องวงจรปิด โดย ศึกษาจากลักษณะการเดิน ประมวลผลของภาพและวิดิโอแบบอัตโนมัติ ซึ่งพบว่าใน 1 รูปแบบการเดินของมนุษย์ที่นำมาประมวลผลได้ ใช้ระยะเวลา 2 วินาที ประมวลผลได้ภาพออกมาประมาณ 50 เฟรม โปรแกรมจะดึงข้อมูลภาพและวิดีโอนั้นที่มีความคงที่ในรูปแบบ ก่อนใช้เทคนิคการคำนวนขั้นสูง สร้างเป็นภาพโครงสร้างทางกายภาพจากการเชื่อมต่อระหว่างข้อต่อที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยยึดการขยับของข้อต่อ ผู้พัฒนาโปรแกรมยังได้ทดสอบกับข้อมูลในสภาพแวดล้อมจริงที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของการเดินทั้งความเร็วและทิศทาง ทำให้มีความแม่นยำในการระบุตัวบุคคลได้กว่า 90%
อาจารย์ผู้พัฒนาโปรแกรม เล่าว่า ใช้เวลากว่า 10 ปี พัฒนาจนสมบูรณ์ เนื่องจากเห็นว่า ในการแยกอัตลักษณ์ตัวบุคคล หรือไบโอแมทริกซ์ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะใช้ลักษณะทางชีวภาพในการจำแนกเป็นหลัก เช่น ภาพลายพิมพ์นิ้วมือ ภาพถ่ายดวงตา และภาพใบหน้า แม้มีข้อดีคือได้ผลแม่นยำ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ลายนิ้วมือ ต้องผ่านการสัมผัสกับอุปกรณ์อ่านค่าเท่านั้น หรือดวงตาก็ไม่สามารถถูกอ่านค่าได้ในระยะไกลหรือผ่านกล้องคุณภาพต่ำ แต่โปรแกรมระบุอัตลักษณ์บุคคลโดยใช้รูปแบบการเดิน สามารถนำมาใช้กับกล้องวงจรปิด ตรวจหาบุคคลในพื้นที่บริเวณกว้างและเพื่อการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่ต้องการ
ในออสเตรเลีย มีการนำโปรแกรมระบุอัตลักษณ์บุคคลจากรูปแบบการเดินมาใช้จริงในสนามบิน ส่วนในไทยมีอาจารย์ผู้พัฒนาโปรแกรมลักษณะดังกล่าว ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยใช้โปรแกรมร่วมกับกล้องวงจรปิด เช่นที่สนามบิน เพื่อการรักษาความปลอดภัย หรือในพื้นที่ที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมาก นอกจากนี้ตัวโปรแกรมยังออกแบบเพื่อให้จดจำท่าทางของผู้ต้องสงสัย ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเฝ้าระวังคนร้ายก่อนก่อเหตุอาชญากรรม และจะส่งสัญญาณเตือนหากค้นพบพฤติกรรมที่โปรแกรมสามารถตั้งไว้ว่าต้องดูแลเป็นพิเศษ
ซึ่งนักวิจัยไทยยังได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้โปรแกรมสามารถประมวลผลให้เห็นเป็นภาพ 3 มิติได้อีกในอนาคต โดยนอกจากโปรแกรมจะสามารถนำไปใช้เพื่อการรักษาความปลอดภัยแล้ว ยังนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ หรือการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคได้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย