กต.11เม.ย.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยการเยือน เมียนมา และบังกลาเทศ ในฐานะประธานอาเซียน มองเมียนมามีความพร้อมและตั้งใจ รับชาวมุสลิม ในรัฐยะไข่ กลับประเทศ
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงการเดินทางไปเมียนมา ในวันที่ 7-8 มีนาคมและบังกลาเทศ 3-4เมษายน 2562 เพื่อหารือกรณีการส่งผู้ลี้ภัยชาวมุสลิม ในรัฐยะไข่ กลับเข้าประเทศเมียนมา หลังจากที่ถูกทหารเมียนมาปราบปรามกลุ่มติดอาวุธจนชาวโรฮิงยาอย่างน้อย 700,000 คน ต้องอพยพหนีตายจากรัฐยะไข่ไปประเทศบังกลาเทศ ว่า ในฐานะประธานอาเซียน ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นดังกล่าวเพราะเป็นประเด็นที่หลายประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งจากการได้หารือทั้ง 2 ประเทศ ทั้งเมียนมา และบังคลาเทศ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในด้านท่าที ที่ตั้งใจจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ซึ่งทางเมียนมา ไม่ได้ขัดข้องเรื่องจำนวนผู้ที่กลับเข้ามาภายในประเทศ แต่ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดบุคคลให้เรียบร้อยก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เพื่อให้ผู้ลี้ภัย สามารถที่จะกลับมาอยู่ในประเทศเมียนมาได้อย่างปลอดภัยดำรงชีพได้อย่างปกติสุข ถือว่าเป็นเสถียรภาพของบ้านเมือง ด้วย ทั้งนี้จะมีการหารือกันอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนเมษายน ในระดับปลัดกระทรวง และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนประเทศสมาชิก ว่าด้วยการ ดำเนินการเรื่องการส่งกลับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า จากเดิมจะมีการส่งกลับผู้ลี้ภัย กลุ่ม ราว 1 พันคน ในวันที่15พฤศจิกายน 2561 แต่เหตุที่เลื่อนไปเกิดจากปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อบรรยากาศความไว้วางใจในพื้นที่ จึงทำให้เมียนมายังไม่พร้อมที่จะรับกลุ่มผู้ลี้ภัยกลับ แต่ทั้งนี้ในพื้นที่ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่ใช่คนพุทธ หรือคนกลุ่มเดียวกับชาวโรฮงญา ยังใช้ชีวิตในรัฐยะไข่ตามปกติ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
นายดอน กล่าวว่า สำหรับการเดินทางไปทั้งเมียนมาและบังกลาเทศของไทยนั้น ไปในฐานะประธานอาเซียน เพื่อรับรู้ทัศนคติของทั้งเมียนมาและบังกลาเทศ ไม่ได้เป็นการกระตุ้นให้ประเทศใดทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ ขณะนี้เมียนมา มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความตั้งใจจะแก้ไขปัญหา ในรัฐยะไข่ แต่ยอมรับว่ามีความติดขัดเล็กน้อย เนื่องจากเมียนมาต้องมีการเตรียมแผนการคัดกรองผู้ลี้ภัยในรัฐยะไข่ที่จะรับเข้ามาอยู่ประเทศ ทั้งนี้เมียนมาไม่ได้ติดขัดในเรื่องจำนวนผู้ส่งกลับ แต่ขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่มาอย่างชัดเจน โดยเมียนมาจะออกเอกสารแสดงตัว สำหรับผู้ลี้ภัยที่จะเข้ามาในรัฐยะไข่ ซึ่งจะมีความใกล้เคียงกับกรีนการ์ดของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของบุคคลนั้นๆ แต่ไม่ได้ให้ถึงขั้นมีสิทธิ์เลือกตั้ง นอกจากนี้ยังทราบว่าการคัดกรองตัวบุคคลเข้าประเทศจะเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันกับระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศ
“ในกระบวนการคัดกรองผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกัน ซึ่งบังกลาเทศทำไว้ตั้งแต่ชาวโรฮิงญาอยู่ในค่ายแล้ว ซึ่งบังกลาเทศได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเมียนมา และเมื่อเมียนมาได้ข้อมูลมาก็จะมีการดำเนินการต่อไปในส่วนของเมียนมาเอง”นายดอน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังกล่าวว่า ในฐานะประธานอาเซียน ต้องการที่จะให้ภายในภูมิภาคปลอดจากปัญหาในอดีต ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก มีความเจริญก้าวหน้าของภูมิภาค และเดินหน้าต่อไปได้ จะนำมาสู่ความมีเสถียรภาพ การพัฒนาบ้านเมือง รวมไปถึงการท่องเที่ยวที่จะเปิดกว้างขึ้น และสำหรับการเยือนทั้ง 2 ประเทศ ที่มีความคืบหน้าอย่างไรนั้น จะมีการรายงานต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ สำหรับประเทศไทย ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่เมียนมา อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างอาชีพ ให้คนเมียนมา ในรัฐยะไข่ มีอาชีพอย่างยั่งยืน อาทิ การสร้างโรงสีข้าว และไทยได้ให้เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่บังกลาเทศ ประมาณ 5 ล้านบาท ผ่านโครงการอาหารโลก.-สำนักข่าวไทย