กทม. 8 เม.ย.-ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์จากสหรัฐ ร่วมกับนักวิจัยไทยพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อไวรัสได้เร็วขึ้นถึง 200 เชื้อในคราวเดียวกัน ขณะที่ ก.สาธารณสุข เร่งวางระบบอบรมบุคลากรให้มีทักษะรับมือกับโรคติดต่ออันตราย ไม่ให้แพร่มาสู่คนไทย
การเจาะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อสมอง และเนื้อเยื่อต่างๆ ที่จำลองมาจากผลไม้ อย่างกล้วย แตงโม และฝรั่ง เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการเก็บเชื้อตัวอย่าง กรณีพบผู้ป่วย หรือ การระบาดของโรคติดต่ออันตราย เพื่อส่งไปตรวจในแลปเฉพาะทาง นอกเหนือจากเทคนิคการใช้อุปกรณ์เก็บเชื้อตัวอย่างในโพรงจมูก และช่องปาก ที่สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมให้บุคลากรทางการแพทย์ ทีมสอบสวนและควบคุมโรคติดต่ออันตรายของทุกจังหวัด ให้สามารถควบคุมโรคในภาวะฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องรอทีมจากส่วนกลาง
ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาฯ พัฒนาการศึกษาวิจัย เพื่อรับมือโรคติดต่ออันตราย โรคอุบัติใหม่ และโรคติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุ ล่าสุดร่วมกับนักวิจัยสหรัฐอเมริกา พัฒนาเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้อไวรัสได้รวดเร็วมากขึ้น โดยตรวจไวรัสได้ถึง 200 ชนิดในคราวเดียวกัน เช่น การนำตัวอย่างเลือดค้างคาวแม่ไก่ที่ชลบุรี มาตรวจหาประวัติการติดเชื้อ ซึ่งอาจมีเชื้ออันตราย เช่น นิปาห์ อีโบล่า และเมอร์ส
ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบนิปาห์ จากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า นอกจากไทย เขายังทำวิจัยร่วมกับอีกหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินเดีย จีน และกัมพูชา ซึ่งมีค้างคาวมากมายหลายสายพันธุ์ มุ่งหวังพัฒนาวัคซีนให้เหมาะสมกับคนและพื้นที่
นอกจากไวรัสนิปาห์ ที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ยังมีโรคติดต่ออันตราย อีก 11 โรค เช่น เมอร์ส และซารส์ ที่สาธารณสุขเฝ้าระวัง รวมถึงโรคติดเชื้อไม่ทราบสาเหตุ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งหากญาติผู้เสียชีวิตต้องการพิสูจน์ให้ทราบสาเหตุ จะต้องมีทุนสูง มีผู้เชี่ยวชาญ สงสัยตรงไหน ส่งตรวจชิ้นเนื้อตรงนั้น เช่น สมอง หรือ ปอด โดยต้องมีเครื่องมือทันสมัยในการวิเคราะห์ อย่างแลปสำหรับตรวจโรคติดต่ออันตรายอย่างเป็นทางการ ที่มีเพียง 2 แห่งในไทย คือ ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบในทุกเคส สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยทำได้ในขณะนี้ คือ การสำรวจวิวัฒนาการของเชื้อในสัตว์ เช่น ค้างคาว ที่อาจข้ามไปสัตว์อื่นรวมถึงคน หรือ เฝ้าระวังเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ๆ พร้อมวางระบบเตือนภัย ป้องกันและแก้ปัญหาให้ทันการณ์.-สำนักข่าวไทย