กรุงเทพฯ 7 เม.ย. – ก.อุตฯ หนุนจัดการขยะพลังงานอย่างเป็นระบบ ชูแนวคิดตั้งโรงงานรียูสและรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ และเตรียมรับมือซากโซลาร์เซลล์ที่คาดทยอยหมดอายุการใช้งานอีก 3 ปี สูงถึง 6.2-7.9 แสนตัน
นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้หาแนวทางลดปัญหามลพิษก่อนกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ โดยประเทศไทยมีการใช้พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ มาตั้งแต่ปี 2545 และจะหมดอายุการใช้งาน 20 ปีหลังการติดตั้งใช้งาน คาดว่าจะทยอยหมดอายุปี 2565-2601 เป็นซากแผงโซลาร์เซลล์สะสมสูงถึง 620,000 -790,000 ตัน แต่เชิงคุณภาพแผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังคงผลิตไฟฟ้าได้เพียงแต่จะมีประสิทธิภาพลดลง หมดอายุทางการสร้างความคุ้มค่าทางการเงิน แต่ยังคงสร้างความคุ้มค่าด้านพลังงานได้ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีแนวคิดสนับสนุนตั้งโรงงานซ่อมแซมโซลาร์เซลล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผงที่ยังใช้ได้ และสนับสนุนการตั้งโรงงานรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อรองรับแผงโซลาร์เซลล์ที่เสื่อมสภาพหรือชำรุดจนไม่สามารถซ่อมแซมเป็นโรงงานลำดับที่ 106 ประกอบกิจการ เกี่ยวกับการนําผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรมกากอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ จะกำหนด 3 แนวทาง คือ 1.การรับคืนแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ 2.การเปิดโรงงานรียูสซ่อมแซมแผงโซลาร์เซลล์ และ 3.การรับซากแผงโซลาร์เซลล์กลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลและมีแนวคิดส่งเสริมและ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานซ่อมแซมแผงโซลาร์เซลล์และโรงงานรีไซเคิล ซากแผงโซลาร์เซลล์ โดยมีเป้าหมายตั้งโรงงาน 10 จังหวัดปริมณฑลและตามหัวเมืองแต่ละภูมิภาค จังหวัดละ 10 แห่งในช่วงแรก คาดว่าจะมีโรงงานทั้ง 2 ประเภทรวมกันประมาณ 100 แห่ง และจะทยอยอนุญาตให้จัดตั้งแต่ละจังหวัดต่อไป โดยอย่างน้อยต้องมีโรงงานประเภทดังกล่าวจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อรองรับการซ่อมแซมและรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คาดว่าจะช่วยลดปัญหาการกำจัดซากแผงโซลาเซลล์ที่จะเกิดขึ้นถึงร้อยละ 90 คิดเป็น 560,000 – 710,000 ตัน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรงกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและควบคุมกำกับดูแล ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย จะมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมศึกษาความเป็นไปได้และหาแนวทางบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายาสุรพล กล่วว่า หลายฝ่ายกังวลว่าเมื่อหมดอายุการใช้งานแผงเซลล์แสงอาทิตย์แล้วจะกำจัดอย่างไร ซึ่งตามหลักการปฏิบัติงาน ด้านการออกแบบติดตั้งและการจัดการขยะและกากของเสียสำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากเทคโนโลยีแผงโฟโตโวลเท มีแนวทางดำเนินการ 2 กรณี คือ การส่งออกไปจัดการนอกประเทศ หรือการจัดการภายในประเทศด้วยการฝังกลบในหลุมฝังกลบของเสียอันตราย หรือเผาทําลายด้วยเตาเผาเฉพาะของเสียอันตราย หรือจัดการโดยวิธีอื่นโดยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย แต่ในความเป็นจริงแม้จะครบอายุโครงการ 20 ปี หลังการติดตั้งใช้งาน แผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังคงผลิตไฟฟ้าได้ แต่มีประสิทธิภาพลดลง ปัจจุบันมีการนำเสนอแนวทางการจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เสียหาย หรือหมดอายุการใช้งาน ด้วยวิธีการซ่อมบำรุงที่ถูกวิธี เช่น วิธีการเปลี่ยนอุปกรณ์เดิมบางตัวเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ เช่น เปลี่ยนไดโอดหรืออุปกรณ์สายไฟต่าง ๆ ในระบบ ก็จะช่วยต่ออายุให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังใช้งานได้โดยการนำกลับมารียูสได้มีอายุการใช้งานอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี สำหรับแผงที่แตกหักใช้ไม่ได้ก็จะนำมาเข้าวิธี Delamination คือ นำแผงวงจรที่ผลิตจากแร่ควอทซ์และส่วนประกอบอื่น ๆ มาทำเป็นสินค้าตัวใหม่ในรูปของกระจกด้านทึบเพื่อใช้สำหรับงานก่อสร้าง.-สำนักข่าวไทย