กรมอู่ทหารเรือ 2 เม.ย.-กองทัพเรือ ฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย ประจำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะที่การเตรียมความพร้อม คืบหน้ากว่าร้อยละ70 พร้อมประพันธ์บทเห่เรือขึ้นใหม่ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ปลายปี
พลเรือโทจงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี ตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพายประจำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ซึ่งกองทัพเรือจัดให้มีการฝึกซ้อมฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครก่อนจะอัญเชิญไปจอดบริเวณท่าราชวรดิฐ เป็นการถวายพระราชอิสริยยศเครื่องราชูปโภคตามโบราณราชประเพณี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 จากนั้นจะถูกใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดในช่วงเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2562
รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กองทัพเรือได้รับมอบหมายในเรื่องขบวนเรือพยุหยาตราชลมารค แบ่งออกเป็น2ช่วง คือวันที่4-5-6 พฤษภาคม และช่วงที่2 คือ ขบวนเรือใหญ่ในการเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราชลมารค ถวายผ้าพระกฐิน สำหรับในช่วงต้น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จะไปจอดเทียบท่าราชวรดิฐ ช่วงวันที่4-6 พฤษภาคม โดยทั้ง3 วัน ต้องนำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ไปจอดเทียบท่าพร้อมพลประจำเรือทุกวัน จนกว่าพระราชพิธีจะแล้วเสร็จ ซึ่งเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ถือเป็นเรือต้น 1 ในเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ที่ประกอบด้วย ช้างต้น ม้าต้น และเรือต้น
ในวันที่17 เมษายน สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร จะเข้ามาดำเนินการติดตั้งบุษบกบนเรือ ในระหว่างนั้นจะมีการฝึกซ้อมย่อยของกำลังพลฝีพายอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นการซ้อมย่อย วันที่26 เมษายน และซ้อมใหญ่เสมือนจริง จอดเทียบท่าราชวรดิฐ วันที่30 เมษายน โดยหลังซ้อมใหญ่ กรมศิลปากร และกรมอู่ทหารเรือ จะร่วมกันประดับตกแต่งพร้อมซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดจากการฝึกซ่อมเพิ่มเติมเพื่อให้สมบูรณ์และสมพระเกียรติสูงสุด
สำหรับการฝึกซ้อมฝีพายในขบวนเรือใหญ่ทั้ง52 ลำ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารคดำเนินการมา ตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ต้องฝึกซ้อมเพิ่มเติม เนื่องจากต้องเข้าร่วมในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะนี้ถือว่าการเตรียมความพร้อมฝึกซ้อมฝีพายคืบหน้าร้อยละ70 แล้ว โดยในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไม่มีการเห่เรือ แต่เป็นการนำเรือพระสุพรรณหงส์ไปจอดเทียบท่าราชวรดิฐ เพื่อเป็นการถวาย พระราชอิสริยยศเครื่องราชูปโภคตามโบราณราชประเพณี
นอกจากนี้ความพิเศษคือแต่งบทเห่เรือขึ้นใหม่ในการพระราชพิธีขบวนพยุหยาตราชลมารคถวายผ้าพระกฐินซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ด้วยกัน 4 บท คือ บทชมเรือ ชมเมือง สรรเสริญพระบารมีและบุญกฐิน โดยนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อดีตอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือครั้งนี้ อยู่ระหว่างให้กรมศิลปากรตรวจความถูกต้องของบทเห่เรือ ก่อนเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
ทั้งนี้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นราชประเพณีคู่สังคมไทยมายาวนาน ได้รับอิทธิพลจากคติอินเดียแต่ลักษณะการพระราชพิธี แต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้แต่การเรียกชื่อพิธีก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ส่วนในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
ในส่วนกองทัพเรือได้เตรียมการจัดเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เทียบท่าราชวรดิฐ ในการพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่าง 4-6 พฤษภาคม 2562 และจัดเรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร การจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เดิมเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นเรือพระที่นั่งขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายนก ปากแหลมยื่นยาว และมีเขี้ยว ส่วนลำคอยืดยาว ทอดลำตัวเป็นลำเรือ ต่อมาในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้จัดเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ทรงพระบรมธาตุที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.2370 ต่อมาเรือมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ลำปัจจุบันเป็นเรือที่สร้างขึ้นใหม่ แทนเรือพระที่นั่งลำเดิมที่ชำรุด จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีนาวาสถาปนิก (Naval Architect) ต่อเรือคือ พลเรือตรี พระยาราชสงคราม รน (กร หงสกุล) เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาล ที่ 5 แล้วเสร็จประกอบพิธีอัญเชิญเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2454 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” ลักษณะตัวเรือ โขนเรือเป็นรูปหงส์ ไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก ศิลปะรัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่24 ท้องเรือภายนอกทาสีดำ ภายในทาสีแดง มีความยาว 44.90 เมตร ความกว้าง 3.14 เมตร ลึก 0.90 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตรหนัก 15.6 ตัน ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร คลองบางกอกน้อย
สำหรับการจัดกำลังพลประจำเรือในงานพระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งนี้ ใช้กำลังพลกองทัพเรือจำนวน 64 คนประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงสามชาย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่เรือ 1 คนและคนถือฉัตร 7 คน โดยจะมีการซ้อมย่อย ในวันที่ 26 เมษายน 2562 และซ้อมใหญ่ ในวันที่ 30 เมษายน 2562
หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่าง 4–6 พฤษภาคม 2562 จะอัญเชิญขึ้นเก็บที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร คลองบางกอกน้อย ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เพื่อเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ในการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารค พร้อมกับการพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ในช่วงปลายปี 2562 ต่อไป .-สำนักข่าวไทย