ธรรมศาสตร์ 1 เม.ย. – นักวิชาการมองรัฐบาลใหม่ไร้เสถียรภาพ แนะเร่งสร้างความเชื่อมั่น สานต่อนโยบาย EEC คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตร้อยละ 3-4
นายเจน นำชัยศิริ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายในงานเสวนาก้าวสู่ 70 ปี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 5 ร่วมกับ Thammasat Economic Focus (TEF) ครั้งที่ 16 เรื่อง “เดินหน้าเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง” ว่า ผลการเลือกตั้งออกมาแบบไม่คาดคิด รัฐบาลและฝ่ายค้านมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน การจะแก้ไขกฎหมายอะไรก็ทำได้ยาก พร้อมยอมรับว่าผิดหวังกับนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่มองข้ามประเด็นสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปและแข่งขันได้ นั่นก็คือ เรื่องการยกระดับการศึกษาแทบจะไม่มีพรรคใดหยิบยกเรื่องการศึกษามาเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียง ทั้งที่การศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ประกอบกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นที่ทำให้ต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น และการแก้ไขกฎกติกาต่าง ๆ ให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น การขออนุญาตการทำธุรกิจ และการอนุญาตให้บุคลากรชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นในการนำเข้าบุคลากรด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาธุรกิจ
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การเลือกตั้งและการนับคะแนนก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายจนเกิดความไม่เชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่หุ้นไทยตกหลังเลือกตั้ง โดยราคาหุ้นคงผันผวนในแนวแคบจนกว่าจะมีการเปิดสภาเลือกรัฐบาล พร้อมมองว่าหากรัฐบาลใหม่ไม่ได้เสียง ส.ส.อย่างต่ำ 270 – 280 เสียง คงไม่มีเสถียรภาพ
นอกจากปัญหาเสถียรภาพรัฐบาลแล้ว รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจให้กับภาคเอกชนและประชาชน ด้วยการมุ่งสานต่อนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บูรณาการนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่พรรคใดคุมกระทรวงใดก็ใช้นโยบายพรรคนั้น พร้อมสร้างโอกาสการทำมาหากินให้กับประชาชนและธุรกิจขนาดเล็กมีงานที่ดีขึ้น และป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีและเครือข่ายเกิดการทุจริต
นายอภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ขาดความชอบธรรม และอายุสั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำได้จะยังคงใช้นโยบายมักง่าย เพื่อคงอำนาจหรือกลับเข้าสู่อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม โดยผลงานที่จะเกิดขึ้นได้อาจจะมีแค่การ “แจก” หรือมาตรการเฉพาะหน้าต่าง ๆ ตามที่สัญญาไว้ ซึ่งคาดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกแก้ไขหรือฉีกทิ้งภายใน 2 – 3 ปี ขณะที่เศรษฐกิจปีนี้คาดขยายตัวร้อยละ 3 – 4 โดยมีปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจโลก. – สำนักข่าวไทย