กรุงเทพฯ 26 มี.ค. – ครม.เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างนมโรงเรียนทั้งระบบ ตัดผู้มีส่วนได้เสียป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ตามข้อเสนอ ป.ป.ช.
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอแนวทางปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยให้ทบทวนมติครม.15 ธันวาคม 2552 เดิมกำหนดให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนอยู่ในกำกับดูแลของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) มีองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นเลขานุการ อีกทั้งยังมีผู้แทนองค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการเป็นกรรมการ ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงเสนอให้แยกองค์กรที่ดูแลนมโรงเรียนออกจากมิลค์บอร์ดแล้วแต่งตั้งเป็น “คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน” โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นเลขานุการแทนอ.ส.ค. เนื่องจาก อ.ส.ค.เป็นผู้ประกอบการจำหน่ายนมโรงเรียน พร้อมกับตัดคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ข้อเสนอแนะ
สำหรับคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนจะมีคณะอนุกรรมการ 4 ชุด คือ คณะอนุกรรมการบริหารกลางทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินโครงการนมโรงเรียน คณะอนุกรรมการรรณรงค์บริโภคนมในสถาบันการศึกษาทุกระดับเพื่อเพิ่มอัตราการดื่มนมจาก 18 ลิตรต่อคนต่อปี เป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปี ภายในปี 2564 และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ระดับกลุ่มพื้นที่แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ครอบคลุม 7 เขตพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมมาก ได้แก่ กลุ่ม 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเป็นประธานดูแลเขต 1 กลุ่ม 2 ผู้ว่าฯ นครราชสีมาดูแลเขต 2 และ 3 กลุ่ม 3 ผู้ว่าฯ ขอนแก่นดูแลเขต 4 กลุ่ม 4 ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ดูแลเขต 5 และ 6 กลุ่ม 5 ผู้ว่าฯ ราชบุรีดูแลเขต7 8 และ9 และคณะอุนกรรมการอื่น ๆ ที่จำเป็น อ.ส.ค. จะทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหรือเป็นคู่สัญญา โดยมอบกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับอ.ส.ค.และกรมส่งเสริมสหกรณ์ทำระบบฐานข้อมูล (Big Data) ของโครงการนมโรงเรียนเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพทุกวันและสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตและโรงงานแปรรูปได้
ส่วนเกษตรกรผู้มีสิทธิ์จำหน่ายน้ำนมดิบต้องจดทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกับกรมปศุสัตว์ ส่วนศูนย์รวบรวมน้ำนมโคและผู้ประกอบการแปรรูปต้องลงทะเบียนเข้าโครงการนมโรงเรียน เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งด้านคุณภาพและปริมาณที่แท้จริง อีกทั้งให้มีบทลงโทษกรณีขึ้นทะเบียนซ้ำหลายพื้นที่และแจ้งข้อมูลเป็นเท็จ
สำหรับเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์ จากเดิมจัดสรรตามปริมาณน้ำนมดิบที่ทำ MOU การรับซื้อไว้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ แต่ข้อมูลที่ผู้ประกอบการแจ้งไม่น่าเชื่อถือและไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้จัดสรรตามปริมาณน้ำนมดิบในพันธสัญญาที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ปัญหาที่ผ่านมายังพบว่า ผู้ประกอบการต้องการได้สิทธิ์จำหน่ายนมโรงเรียน แต่ไม่รับผิดชอบน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นแต่ละปี จึงจะพิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ให้ความสำคัญแก่ภาคสหกรณ์และศูนย์รวบรวมน้ำนมโคเป็นของตนเอง หรือมีแผนการตลาดรองรับน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นทุกปี และรับผิดชอบตลอด 365 วัน อีกทั้งมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมา ส่วนคุณภาพของนมโรงเรียนต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนระดับพื้นที่ ในอนาคตจะเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นหรือเหมาะสมสำหรับแต่ละเขตเช่น เติมไอโอดีน ดีเอชเอ ลูทีน โคลีน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงอุดหนุนงบประมาณจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดซื้อนมสำหรับโรงเรียนรัฐ ส่วนโรงเรียนเอกชนจัดสรรผ่านกระทรวงศึกษาธิการ โดยวิธีกรณีพิเศษ ตามพ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและเด็กนักเรียนที่บริโภคมากที่สุด สำหรับ อ.ส.ค.ทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดซื้อนมโรงเรียน โดยสามารถมอบอำนาจแก่ผู้ประกอบการเป็นคู่สัญญาซื้อขายแทนได้ นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้ประกอบการทุกรายทำประกันภัยความรับผิดชอบจากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล
“การปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการโครงการนมโรงเรียนตามรูปแบบใหม่นี้จะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีรายได้มั่นคงและคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบน้ำนมดิบทุกวัน ทำให้เกิดความโปร่งใสในโครงการ เด็กและเยาวชนได้ดื่มนมที่มีโภชนาการสูง ส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างเต็มศักยภาพ” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย