สำนักข่าวไทย 26 มี.ค.-แกนนำแรงงานขานรับรัฐบาล ไม่ว่าพรรคไหนเป็นแกนนำ ยืนยันข้อเสนอเดิมปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ส่วนการปรับเพิ่มตามนโยบายหาเสียงควรใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป และควบคุมราคาสินค้าให้ได้ มิเช่นนั้นอาจไม่เกิดประโยชน์และยังเป็นโทษกับประชาชน
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ฝ่ายแรงงานได้ติดตามการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งในส่วนของการขับเคลื่อนเรื่องของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ก็คงดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากข้างไหน หรือพรรคการเมืองไหนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเพราะถือว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลของประเทศไทยและของประชาชนคนไทย ซึ่งยังคงยืนยันตาม หลักการเดิม คือ ขอให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นในรอบนี้ เป็น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศก่อนเป็นอันดับแรก
จากนั้นจึงค่อยๆปรับไปปีละ10-15เปอร์เซนต์ให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจเพื่อให้ไปถึงตัวเลขสูงสุดตามเป้าหมายของนโยบายที่แต่ละพรรคหาเสียงไว้ แต่ไม่ควรปรับในอัตราที่สูงในครั้งเดียวเพราะจะทำให้สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจ ของประเทศผันผวนได้ รวมทั้งจะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นตามไปอีก สุดท้ายแล้วการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแม้ว่าจะปรับในอัตราสูง แต่ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน และยังส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยภาพรวมของประเทศที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นด้วย
เช่นเดียวกันหากพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีนโยบายหาเสียงผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ถึง 400 ถึง 425 บาท สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น เห็นว่า ถ้าแรงงานได้ค่าแรงเพิ่มเป็น 425 บาทก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ในทางปฎิบัติเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะในการปรับค่าจ้างจริงจะมีการแบ่งออกเป็นโซน ปรับมากปรับน้อยตามที่กำหนดในแต่ละโซน และจากที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามผลักดันให้มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาททั่วประเทศมาตลอดแต่ก็ไม่สำเร็จทำได้เพียง 300 บาททั่วประเทศเท่านั้น
ส่วนวิธีการที่จะปรับนั้นว่าก็ต้องรอดูว่า จะใช้วิธีใด จะปรับครั้งเดียวหรือค่อยๆปรับขึ้นมา เป็นรายปี จนกว่าจะได้400 บาทหรือ 425 บาท หากใช้วิธีปรับครั้งเดียวไป425บาทเลย จะมีผลกระทบมาก ยกตัวอย่าง ตอนนี้ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ใน3 จังหวัดอัตรา330 บาทต่อวัน ถ้าปรับครั้งเดียวขึ้นมาเป็น 425 บาท เป็นการปรับเพิ่มถึง 95 บาท หรือประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ต้องถามว่าแต่ละฝ่ายจะไหวกันไหม ที่สำคัญรัฐบาลจะต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นได้อย่างไร เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า
‘หากเพิ่มไปครั้งเดียว 95 บาทแล้วราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามคนงานก็ไม่ได้อะไรเพราะ ต้องใช้เงินที่มากขึ้นในการซื้อสินค้ามาอุปโภคบริโภค ทางที่ดีควรค่อยๆขยับขึ้นเพราะจะส่งผลกระทบน้อยกว่า แต่เบื้องต้นตัองขยับขึ้น มาก่อนระดับหนึ่ง ซึ่งเรียกร้องให้เพิ่มขึ้นเป็น360 บาทเท่ากันทั่วประเทศให้ได้ก่อนแล้วค่อยขยับขึ้นไปสู่ 400 และ 425 บาท และควรให้ความสำคัญเรื่องของราคาสินค้ามากกว่าเรื่องของค่าจ้างเพราะถ้าเกิดไม่ควบคุมราคาสินค้าต่อให้ค่าจ้างสูงขนาดไหนก็ไม่มีประโยชน์’ นายชาลี กล่าว .-สำนักข่าวไทย