กทม. 22 มี.ค.-โค้งสุดท้าย พรรคการเมืองงัดกลยุทธ์ไพ่ตายสู้ศึก ขณะที่นักวิชาการวิเคราะห์สูตรพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขซับซ้อน
การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 17 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ออกไปใช้สิทธิถึง 87% หากวันเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ ยังมีผู้มาใช้สิทธิเกิน 80% จะส่งผลให้อัตราส่วนที่เคยคำนวณไว้ว่า ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงได้รับ 1 คน ต่อผู้มาใช้สิทธิ 7 หมื่นคน ขยับขึ้นเป็นต่อผู้มาใช้สิทธิ 8 หมื่นคน คะแนนอีก 1 หมื่นเสียงที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งแข่งขันกันดุเดือดขึ้น
นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ตัวเลขผู้มาใช้สิทธที่เพิ่มขึ้น น่าจะมาจากทั้งผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ first voter และผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิแต่ครั้งนี้ตื่นตัวออกมาใช้สิทธิเป็นครั้งแรก ทำให้การเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ คาดเดายาก แม้ภาพรวมประเมินว่าตัวเลข ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ เมื่อมีการจับขั้วการเมืองจะไม่ต่างจากก่อนเลือกตั้งล่วงหน้ามากนัก แต่เมื่อดูลงไปเป็นรายพรรค พบว่าบางพรรค ตัวเลขเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก
เริ่มจากพรรคเพื่อไทย ก่อนเลือกตั้งล่วงหน้า ประเมินไว้ที่ 120-180 ที่นั่ง หลังเลือกตั้งล่วงหน้าขยับเป็น 150-190 ที่นั่ง มุ่งไปที่การชนะ ส.ส.เขต มากกว่าปาร์ตี้ลิสต์
ขณะที่ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ ตัวเลข ส.ส. ยังสูสีกัน โดยก่อนเลือกตั้งล่วงหน้า ประชาธิปัตย์น่าจะได้ 80-90 คนหลังเลือกตั้งล่วงหน้าขยับขึ้นมาเป็น 90-120 คน ส่วนพลังประชารัฐ ก่อนเลือกตั้งล่วงหน้า ประเมินตัวเลข ส.ส.ไว้ที่ 60 -80 คน หลังเลือกตั้งล่วงหน้า 80-110 คน
แต่ที่น่าจับตาคือพรรคอนาคตใหม่ ที่พบว่าคะแนนเสียงพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ตามเป็นอันดับ 4 อาจได้ ส.ส.มากถึง 50-70 ที่นั่ง จากที่ไม่หวังจะได้ ส.ส.เขต เบียดแซงหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่คาดว่าจะได้ ส.ส. 40-50 ที่นั่ง แม้จะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าก่อนเลือกตั้งล่วงหน้าก็ตาม
และนี่ทำให้แต่ละพรรคต้องงัดไพ่ตายกลยุทธ์ในการหาเสียงโค้งสุดท้ายขึ้นมาสู้กันอย่างเต็มที่ แม้ยังไม่เห็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายก ขึ้นเวทีพรรคพลังประชารัฐด้วยตัวเอง แต่ก็มีการเปิดคลิปปราศรัยบ่อยขึ้น ขึ้นป้ายหาเสียง รุกสื่อโซเชียล
ประชาธิปัตย์ เน้นย้ำนโยบายให้ชัดมากขึ้น หวังสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน ส่วนเพื่อไทยจากที่เน้นโจมตีรัฐบาล หันกลับมาตอกย้ำความเป็นพรรค เน้นนโยบายกลุ่มเป้าหมายในต่างจังหวัด และหวังฐานเสียงกลุ่มคนรุ่นใหม่
อนาคตใหม่ที่ดูจะค่อนข้างได้เปรียบ เป็นพรรคในกระแสที่กำลังมาแรง ยังคงย้ำจุดยืนอนาคตทางการเมืองหลังเลือกตั้งมากกว่าเน้นเลือกตัวบุคคล
ที่น่าจับตาคือสูตรจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง หากเป็นไปตามตัวเลขที่มีการประเมิน อาจมีการเขย่าสมาการ 3 ก๊ก 2 ขั้วการเมือง แม้ตัวเลข ส.ส.ระหว่าง ขั้วพรรคเพื่อไทยกับพรรคพันธมิตร กับขั้วพรรคประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ น่าจะยังใกล้เคียงกัน แต่จะต่างกันที่เงื่อนไข
แม้อนาคตใหม่เป็นพรรคพันธมิตรกับเพื่อไทย แต่หัวหน้าพรรคประกาศสนับสนุนแคนดิเดตนายกที่เป็น ส.ส.เท่านั้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยเน้นชนะ ส.ส.เขต หากได้ ส.ส.เขตเกิน 150 ที่นั่ง อาจไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ขณะที่แคนดิเดตนายกทั้ง 3 คนของเพื่อไทย อยู่ในรายชื่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็จะกลายเป็น ส.ส.สอบตกทันที และจะติดล็อคเงื่อนไขที่อนาคตใหม่ประกาศไว้
ขณะที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ และพร้อมลาออกหากพรรคได้ ส.ส.ไม่ถึง 100 คน นั่นหมายความว่าหาก ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มากกว่า 100 ที่นั่ง และมากกว่าพลังประชารัฐ จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ และภายใต้เงื่อนไขใด ใครจะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และยังมีตัวแปรสำคัญอย่างภูมิใจไทย ที่คาดว่าจะจับมือกับขั้วที่จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเสนอเงื่อนไขใดในการเข้าร่วมรัฐบาล แต่หากยังไม่สามารถจับมือกันได้อย่างลงตัว มีการประเมินว่าอาจได้เห็นรัฐบาลผสมขนาดใหญที่มีคะแนนเสียง มากกว่า 375 -400 เสียง แต่ไม่ว่าโฉมหน้ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะออกมาในรูปแบบไหน หรือใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นักวิชาการเชื่อว่าต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดไม่ต่ำกว่า 2 เดือน หลังการรับรองผลการเลือกตั้ง.-สำนักข่าวไทย